ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดอุทกภัยกรุงเทพฯฉุดศก.Q4 หดตัว 3.3%ทั้งปีโตแค่ 1.7%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 27, 2011 18:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินแนวโน้มความสูญเสียทางเศรษฐกิจ (Economic Losses) ประเมินว่าเหตุการณ์อุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยเป็นมูลค่ามหาศาลอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน และกรุงเทพฯได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมด้วยผ คาดว่าจะฉุดเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4/54 หดตัวลงถึง 3.3% ในกรณีพื้นฐาน แต่กรณีเลวร้ายอาจหดตัวถึง 6.3% จากเดิมที่เคยคาดว่าจะขยายตัว 4.9%

พร้อมกันนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 54 ลงมาเหลือเพียง 1.7% ในกรณีพื้นฐาน และ 0.9% ในกรณีเลวร้าย จากเดิมที่เคยคาดว่าอาจขยายตัว 3.8%

สถานการณ์ขณะนี้ยังคงมีการรุกคืบของมวลน้ำไปตามพื้นที่ที่เป็นทางผ่านของน้ำออกสู่ทะเล โดย ณ ขณะนี้เริ่มเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าทั่วทั้งกรุงเทพมหานครคงไม่อาจหลีกเลี่ยงภาวะน้ำท่วม ขณะที่แนวเส้นทางผันน้ำลงสู่ทะเลทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ เชื่อมต่อกับฉะเชิงเทราและสมุทรปราการนั้น ยังเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมอีก 7 แห่ง ที่อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม และยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ภายใต้สมมติฐาน 2 กรณีนั้น กรณีพื้นฐาน (Base Case) สภาพอากาศมีฝนตกน้อยลง แต่อาจยังต้องใช้เวลาอย่างน้อยถึงเดือนพฤศจิกายนกว่าน้ำจะระบายออกสู่ทะเลได้หมด ขณะที่ระดับน้ำท่วมในกรุงเทพฯ อาจมีความสูงตั้งแต่ 30-150 ซ.ม. โดยมีความสูงเฉลี่ย 50 ซม. เป็นระยะเวลาประมาณ 30 วัน ส่วนนิคมอุตสาหกรรมในฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมบางส่วน

และ กรณีเลวร้าย (Worst Case) สภาพอากาศยังมีฝนตกเพิ่ม ส่งผลให้น้ำท่วมขังเป็นเวลายาวนานขึ้น โดยอาจยังต้องใช้เวลาถึงเดือนธันวาคมในการระบายน้ำออกสู่ทะเลจนหมด ขณะที่ระดับน้ำท่วมในกรุงเทพฯ อาจมีความสูงเฉลี่ย 80 ซม. ในระยะเวลา 45 วัน สำหรับนิคมอุตสาหกรรมในฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ อาจเสียหายรุนแรงจากน้ำท่วม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มหันตภัยครั้งนี้อาจสร้างความสูญเสียต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) เป็นมูลค่าสุทธิ 242,200 ล้านบาทในกรณีพื้นฐาน แต่ในกรณีเลวร้ายความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยสุทธิอาจสูงถึง 330,800 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.3-3.1% ของจีดีพี โดยภาคอุตสาหกรรมได้รับความเสียหายหนักที่สุดมีมูลค่าประมาณ 171,900-234,900 ล้านบาท (หรือคิดเป็นกว่า 70% ของความเสียหายทั้งหมด) อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูงสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ นอกจากนี้ยังมีความเสียหายในภาคการเกษตร มูลค่า 37,100-46,000 ล้านบาท และภาคบริการและอื่นๆ รวม 33,200-49,900 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มในปี 55 คาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวประมาณ 4.3% โดยผลกระทบในภาคอุตสาหกรรมที่บางส่วนยังคงต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูหลายเดือน ทำให้การผลิตและการส่งออกของไทยมีแนวโน้มที่จะหดตัวต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 1/55 ขณะที่แรงงานจำนวนมากที่ต้องเผชิญการว่างงานอาจเป็นปัจจัยกดดันการบริโภค ซึ่งอาจส่งผลให้จีดีพีในไตรมาสที่ 1/55 มีโอกาสติดลบ ก่อนที่จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ประมาณช่วงไตรมาส 2/55

อย่างไรก็ตาม แรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายของรัฐในการเยียวยาผู้ประสบภัย และการใช้จ่ายลงทุนเพื่อบูรณะอาคาร สิ่งปลูกสร้าง และสาธารณูปโภค รวมถึงการเสริมการป้องกันปัญหาน้ำท่วมสำหรับช่วงฤดูกาลหน้า ทั้งให้ส่วนของภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชน ประกอบกับฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ น่าจะเป็นแรงหนุนที่เข้ามาชดเชยกันได้ในระดับหนึ่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ