นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศ(ธปท.) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ครั้งหน้าที่กำหนดไว้ในวันที่ 30 พ.ย.54 อาจจะมีการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 54 และปี 55 อีกครั้ง เนื่องจากการปรับประมาณการในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับเดือน ต.ค.ใช้ฐานข้อมูล ณ วันที่ 19 ต.ค.แต่เหตุการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมยังไม่จบลงไปในขณะนี้ ดังนั้นจึงจะมีการพิจารณาความเสียหายทั้งหมดอีกครั้ง
นอกจากนั้น กนง.ก็จะติดตามความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวที่อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยด้วย โดยหากปัจจัยทั้งสองด้านมีความรุนแรงขึ้น ธปท.ก็พร้อมจะขอให้มีการหารือ กนง.นัดพิเศษก่อนกำหนดประชุมที่วางไว้ และ กนง.พร้อมจะดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมกับสถานการณ์
"การทบทวนประมาณการณ์จีดีพีครั้งนี้ใช้ข้อมูล ณ วันที่ 19 ต.ค.เท่านั้น ยังไม่ได้รวมปัจจัยความเสียหายจากน้ำท่วมหลังจากนั้น ดังนั้น การประชุม กนง.วันที่ 30 พ.ย.นี้ ถ้าความเสียหายต่อเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก อาจมีการปรับประมาณการจีดีพีปีนี้และปีหน้าใหม่ ขณะที่ กนง.จะจับตาความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก ความเสี่ยงในประเทศ โดยเฉพาะอุทกภัย และพร้อมจะดำเนินนโยบายการเงินอย่างเหมาะสมต่อไป ต้องรอความชัดเจนของสถานการณ์ก่อน"นายไพบูลย์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ตามสถานการณ์ปกติอัตราดอกเบี้ยไม่ควรจะติดลบ ซึ่งเป็นบรรทัดฐานที่ธปท.ใช้ดูแลเศรษฐกิจและเสภียรภาพราคา แต่หากเศรษฐกิจซบเซาการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบก็ถือว่าเหมาะสม
นายไพบูลย์ กล่าวว่า สำหรับการปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับนี้ ประเมินว่าอุทกภัยที่สร้างความเสียหายต่อภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหย่ 6 แห่ง ซึ่งไม่รวมนิคมฯบางกะดี ทำให้ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหายไป 1.2 แสนล้านบาท ยังไม่รวมความเสียหายของสินทรัพย์ คาดว่าจะทำให้จีดีพีประเทศลดลง 1.1% ส่วนเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจะกระทบกับจีดีพีของไทย 0.2-0.3% ขณะที่จีดีพีไตรมาส 2/54 ของไทยต่ำกว่าที่คาดจากผลกระทบสึนามิในญี่ปุ่น รวมทั้งเชื่อว่าการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 4/54 จะลดลงมากจากประมาณการเดิม เพราะหลายประเทศเตือนประชาชนไม่ให้มาเมืองไทย
เศรษฐกิจโลกขยายตัวชะลอลงทำให้หลายสำนักปรับลดจีดีพีครึ่งปีนี้ถึงปี 55 ลง ดังนั้น เศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอจะกระทบกับการขยายตัวส่งออก แม้ว่าจะมีการกระจายตลาดและขายสินค้าภายในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น แต่ไทยก็ไม่สามารถเลี่ยงผลกระทบการชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐได้ เนื่องจากเป็นกำลังซื้อหลัก ขณะที่น้ำท่วมกระทบเกษตรและอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้ยังไม่รู้ว่าจะลุกกลามไปสาขาอื่นมากน้อยแค่ไหน และเสียหายมากน้อยแค่ไหน
ส่วนปี 55 เชื่อว่าความเสียหายจากเหตุอุทกภัยจะมีได้รับการฟื้นฟู ทำให้มีแรงใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศ รวมทั้งมาตรการของรัฐ โดยรวมแล้วจีดีพีปี 55 จึงไม่ต่างจากครั้งก่อน เศรษฐกิจโลกอ่อนแอมีผลต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่า ด้านเงินเฟ้อแรงกดดันยังมีอยู่ ผ่านตลาดแรงงานที่ตึงตัว
"มองปัจจัยลบขณะนี้จากจีดีพีมีมากกว่าด้านบวกโดยเฉพาะผลกระทบที่ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ขณะนี้จากอุทกภัย ประกอบกับเศรษฐกิจคู่ค้าอาจชะลอตัว แต่ปัจจัยด้านบวกคือการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม และการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรป ซึ่งจะทำให้ความเขื่อมั่นของนักลงทุนดีขึ้น กนง.จะจับตาต่อไป"นายไพบูลย์ กล่าว