นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ประสานงานไปยังผู้ค้าไข่ไก่รายใหญ่ ประกอบด้วย กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี เบทาโกร และเกษมชัยฟาร์ม เพื่อนำไข่ไก่ที่อยู่ในฟาร์มออกมาจำหน่ายในเขตพื้นที่ต่างๆ
นายยรรยง กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ ทางซีพีจะนำไข่ไก่ไปจำหน่ายที่องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) หลายแสนฟอง ส่วนเบทาโกรและเกษมชัยฟาร์ม อยู่ระหว่างจัดหาพื้นที่ที่จะจำหน่ายไข่ไก่ในราคาปกติ คาดว่าจะสามารถจำหน่ายไข่ไก่ได้ต้นสัปดาห์หน้า ซึ่งยืนยันว่าปริมาณไข่ไก่ในระบบยังมีเพียงต่อการบริโภคแน่นอน ขณะเดียวกันการนำเข้าไข่ไก่จากประเทศมาเลเซีย ซึ่งห้างเทสโก้ โลตัสระบุจะนำเข้าไม่ต่ำกว่า 3 ล้านฟอง ขณะที่ห้างแม็คโครก็ต้องการนำเข้า อยู่ระหว่างการประสานงาน
ด้านนางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า เท่าที่พูดคุยกับสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ในเขตพื้นที่ต่างๆ ยอมรับว่า ปริมาณไข่ไก่ที่อยู่ในระบบมีถึง 25-26 ล้านฟองต่อวัน แต่ขณะนี้ไม่สามารถนำไข่ไก่ในเขตพื้นที่เข้ามาในเขตกรุงเทพฯ หรือจังหวัดที่ประสบปัญหาน้ำท่วมได้ เพราะได้รับผลกระทบด้านการขนส่ง แต่ที่ผ่านมา ผู้เลี้ยงไก่ไข่ได้นำไข่ไก่เข้ามาในพื้นที่ประสบภัยได้ในสัดส่วนน้อย ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลจะเร่งแก้ไขหากไม่ต้องการให้ขาดแคลน ก็ต้องให้นำเข้า เพราะเท่าที่สอบถามห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ต่างๆ สินค้าอยู่ในศูนย์กระจายสินค้าในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจำนวนมาก แต่ไม่สามารถนำสินค้าออกมากระจายในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงได้ สิ่งที่จะต้องดำเนินการคือ ทางกองทัพจะต้องนำรถจีเอ็มซีเข้าไปขนสินค้าภายในศูนย์กระจายสินค้าโดยเร็ว
นางวัชรี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ แม้ว่าจะได้รับความร่วมมือจากทางทหาร แต่ติดขัดปริมาณน้ำที่ยังมีมากในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่เชื่อว่าหากปริมาณน้ำในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาต่ำกว่า 1 เมตร และทางกองทัพส่งรถจีเอ็มซีไปขนส่งสินค้าได้ เชื่อว่าปัญหาขาดแคลนสินค้าที่มีในขณะนี้จะลดลง
ในส่วนไข่ไก่นำเข้า ห้างแม็คโครแจ้งว่า ภายในต้นสัปดาห์หน้า จะนำไข่ไก่จากประเทศมาเลเซียจำนวน 200,000 ฟองเข้ามาทางด่านสะเดา เชื่อว่าจะขนถ่ายจากพื้นที่มาสู่พื้นที่น้ำท่วมได้โดยเร็ว อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จะให้นำเข้าเฉพาะรายการที่สินค้าขาดแคลน เมื่อสินค้าที่อยู่ในโกดังออกมาแล้ว จะไม่ให้นำเข้าอีก รวมทั้งได้ทำความเข้าใจกับผู้เลี้ยงไก่ไข่ในพื้นที่ต่าง ๆ ว่า จะต้องลดปัญหาการขาดแคลนของสินค้าก่อน และเมื่อเข้าสู่ภาวะปกติ เชื่อว่าสินค้าของผู้เลี้ยงในประเทศจะเข้าสู่ระบบปกติ