นางนันทวัลย์ ศกุลตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยว่า สำนักส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอีเพื่อการส่งออกรายงานถึงการเดินทางของคณะผู้แทนการค้าธุรกิจซอฟท์แวร์ไทยเยือนประเทศเวียดนาม กรุงฮานอย และกรุงโฮจิมิน คาดว่าจะมีคำสั่งซื้อราว 100 ล้านบาทภายใน 1 ปี โดยมีนักธุรกิจเวียดนามที่เข้ามาจับคู่กับนักธุรกิจไทยประมาณ 120 ราย
ภาคธุรกิจที่สนใจเทคโนโลยีสารสนเทศหรือซอฟต์แวร์มาก ได้แก่ โรงพยาบาล หรือ Chain ร้านอาหารที่ต้องการระบบบริหารงาน กับ ภาคธุรกิจที่พร้อมด้านสารสนเทศในฐานะผู้ร่วมค้า เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนการค้าและส่วนสนับสนุนด้านการให้บริการ (Sale Agent & Customer Service)
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจซอฟต์แวร์เป็นธุรกิจบริการที่มีความซับซ้อน จับต้องได้ยาก และต้องใช้ความเข้าใจเชิงลึก รวมถึงระยะเวลาที่ค่อนข้างนานเพื่อศึกษาถึงประโยช์ที่ชัดเจนที่จะได้รับการจากการควบรวมธุรกิจ หรือการใช้ ซอฟต์แวร์ร่วมกับธุรกิจอื่น ดังนั้น โดยทั่วไปผลการเจรจาในกลุ่มธุรกิจซอฟต์แวร์นั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงมูลค่าการค้าจะไม่เห็นผลทันที หรือ เห็นผลโดยเร็ว โดยส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี ถึงจะเห็นผลที่ชัดเจน แต่ทั้งนี้ข้อดีของกลุ่มธุรกิจซอฟต์แวร์ คือ เป็นธุรกิจที่มีความยั่งยืนทางด้านการจับคู่ทางการค้า เนื่องจากภาคธุรกิจที่ใช้ซอฟต์แวร์ประเภทใดประเภทหนึ่งแล้ว โดยส่วนใหญ่จะไม่เปลี่ยนที่ ซึ่งจะส่งผลดีในการสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจซอฟต์แวร์ไทยในระยะยาว
นางนันทวัลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โอกาสการผลักดันธุรกิจซอฟต์แวร์ของไทยในเวียดนามนั้น ธุรกิจซอฟต์แวร์ของไทยยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพ โอกาสการเพิ่มมูลค่า โอกาสการขยายตลาดอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยหากเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ความต้องการทางการตลาดภายในประเทศไทย จะเห็นได้ว่าเกือบทุกภาคธุรกิจที่มีความโดดเด่น ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนยุคใหม่ และที่มีความต้องการในการเพิ่มมูลค่าของธุรกิจผ่านการให้บริการ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศหรือซอฟต์แวร์ เข้ามาเป็นส่วนสนับสนุนภาคธุรกิจถือเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจโรงพยาบาลกับการเรียกดูประวัติผู้ขอรับการรักษาผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ภาคธุรกิจการโทรคมนาคมกับการดาวน์โหลดเพลงหรือเติมเงิน/ชำระเงินผ่านระบบมือถือ ภาคธุรกิจอื่นๆ ที่มีการให้หรือเก็บข้อมูลผ่านระบบอินเตอร์เน็ต หรือแม้แต่การบริการของกรมส่งเสริมการส่งออกผ่านเว็บไซต์ Thaitrade.com หรือ สายตรงผู้ส่งออก 1669 ทั้งหมดเป็นตัวอย่างที่ดีของการนำซอฟต์แวร์เข้ามาใช้เป็นส่วนสนับสนุนทางธุรกิจ
ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจไทยที่เดินทางเข้าร่วมมีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มผู้เข้าร่วมเดินทาง-ร่วมงาน ประกอบด้วยบริษัทซอฟต์แวร์ทั้งสิ้น 14 บริษัท และสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (Software Industrial Promotion Agency: SIPA) ประเภทธุรกิจซอฟต์แวร์ของผู้เข้าร่วมเดินทาง/ร่วมงาน สามารถแบ่งได้เป็นทั้งสิ้น 5 ด้านคือ ด้านธุรกิจ Call Center และ Interactive Voice Responds (IVR) จัดทำระบบตอบรับอัตโนมัติเพื่อสนับสนุนธุรกิจต่างๆ เช่น ระบบ Call Center ทั่วไป หรือ ระบบการ ดาวโหลดเพลงผ่านมือถือ ธุรกิจการเงิน จัดทำระบบการจัดการด้านการเงินเพื่อเรียกดู Portfolio ด้านการเงิน ต่างๆ ของบริษัท ธุรกิจอนิเมชั่นและเกมส์: พัฒนาอนิเมชั่นและเกมส์เพื่อรองรับระบบเกมส์ในลักษณะต่างๆ เช่น Xbox และ Playstation 3 Facebook รวมทั้งระบบเกมส์ On-line ต่างๆ ธุรกิจการบริหาร Reservation: จัดทำระบบ On-line เพื่อทำการสำรองที่นั่งคอนเสิร์ต และธุรกิจพัฒนาเฉพาะระบบ จัดทำระบบด้านการประกันภัย จัดทำระบบด้านการเป็นศูนย์กลางการกระจายหนังสือ (E-book) จัดทำระบบด้านการจัดการ/บริหารร้านอาหาร และจัดทำระบบด้านการบริหารจัดการท่องเที่ยว