"เผ่าภูมิ" ร่วมประชุมเวิลด์แบงก์-IMF หารือนโยบายรับมือกำแพงภาษี-ศก.ผันผวน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 28, 2025 10:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ได้เข้าร่วมการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (Spring Meetings) และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในระหว่างวันที่ 21-24 เมษายน 2568 ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา โดยมีรายละเอียดการประชุมฯ ดังนี้


1. การประชุม Roundtable IMF MD with ASEAN Finance Ministers and Central Bank Governors

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ได้เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมกับนาง Kristalina Georgieva กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และ รมว.คลัง และผู้ว่าธนาคารกลางของแต่ละประเทศในอาเซียน โดยที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ในหัวข้อ "ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน และการรับมือกำแพงภาษี"

โดยนาง Kristalina ได้ให้ความเห็นในประเด็นการรับมือกำแพงภาษี ว่า ประเทศสมาชิกอาเซียน ควรสนับสนุนนโยบายเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงของตลาดทุน และการค้าในภูมิภาคให้มากขึ้น นอกจากนี้ ควรมีการจัดระเบียบห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศของตนเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้มีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ที่ผันผวน ประเทศรายได้น้อยกำลังเผชิญการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการได้รับเงินช่วยเหลือจากประเทศพัฒนาแล้วที่น้อยลง ทำให้ประเทศรายได้น้อยจะต้องระดมทรัพยากรในประเทศให้สามารถมีรายได้ภาษีสูงกว่า 15% ของ GDP ให้ได้ เพื่อให้รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายการคลังได้อย่างยั่งยืน


2. การประชุมหารือทวิภาคี

นายเผ่าภูมิ รมช.คลัง ได้ร่วมประชุมหารือทวิภาคี ดังนี้

(1) ประชุมร่วมกับกรรมการจัดการ IMF เพื่อหารือถึงการเตรียมความพร้อมของประเทศไทย ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในปี 2569 (AM2026) โดยนาง Kristalina ได้แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศไทย แต่ยังคงเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะสามารถเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุม AM2026 ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน

(2) ประชุมร่วมกับ Ms. Mamta Murthi รองประธานธนาคารโลก ด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ พร้อมคณะผู้บริหารธนาคารโลก ในหัวข้อการปฏิรูประบบสวัสดิการเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งใน Flagship Report สำหรับประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุม AM2026

(3) ประชุมร่วมกับผู้แทนจาก Credit Rating Agencies ได้แก่ J.P. Morgan Moody's และ S&P ในหัวข้อภาพรวมเศรษฐกิจมหภาค การรับมือกำแพงภาษี และนโยบายการคลัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการคลังของประเทศไทย

(4) ประชุมร่วมกับนาย Riccardo Puliti รองประธานบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (The International Finance Corporation: IFC) ในหัวข้อบทบาทของ IFC ในการสนับสนุนการพัฒนาทักษ และการเพิ่มขีดความสามารถของภาคธุรกิจไทย

(5) ประชุมร่วมกับ H.E. Gilles Roth รมว.คลังราชรัฐลักเซมเบิร์ก โดยได้หารือถึงแนวทางความร่วมมือด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology) โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน (Financial hub) และสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset)


3. การประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก ครั้งที่ 111 (The 111th Development Committee Meeting: DC Plenary)

การประชุม DC Plenary มีสาระสำคัญสรุปได้ว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยมีแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก ความตึงเครียดทางการค้าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น หนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง และอัตราการเติบโตระยะกลางที่อ่อนแอ

โดย IMF คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลก จะชะลอตัวจาก 3.3% ในปี 2567 เหลือ 2.8% ในปี 2568 และฟื้นตัวเล็กน้อย เป็น 3.0% ในปี 2569 และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มลดลงทั่วโลก โดยการลดลงของอัตราเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้ว จะเร็วกว่าประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ และกำลังพัฒนา

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงนโยบายเพื่อการรับมือและสร้างความยืดหยุ่น ท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้า และความผันผวนในตลาดการเงิน ดังนี้

1. ประเทศสมาชิก ต้องดำเนินนโยบายเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่น และลดความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจในประเทศ และระหว่างประเทศ และสร้างกันชนทางเศรษฐกิจ เพื่อรองรับความผันผวนในอนาคต

2. ประเทศสมาชิกควรส่งเสริมความร่วมมือพหุภาคี (Multilateral Cooperation) ต่อไป โดยสนับสนุนระบบการค้าระหว่างประเทศที่มีกฎเกณฑ์ชัดเจน

3. ธนาคารกลาง ควรรักษาความมั่นคงด้านราคาและเสถียรภาพทางการเงิน โดยหากความเสี่ยงเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ควรชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ย

4. ประเทศสมาชิกควรดำเนินนโยบายการคลังที่ยั่งยืน โดยจำเป็นต้องมีแผนการคลังระยะกลางที่น่าเชื่อถือ เพื่อฟื้นฟูความยั่งยืนทางการคลัง และควรมุ่งเน้นการจัดเก็บรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้จ่ายที่ตรงจุดเพื่อสนับสนุนการพัฒนา

5. ประเทศสมาชิกควรผลักดันการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของแรงงานสตรี และผู้สูงอายุ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ส่งเสริมนวัตกรรม และเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยี



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ