SCB EIC หั่น GDP ปี 68 เหลือ 1.5% ห่วงสงครามการค้าฉุดศก.ไทยครึ่งปีหลังถดถอย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 28, 2025 15:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

SCB EIC หั่น GDP ปี 68 เหลือ 1.5% ห่วงสงครามการค้าฉุดศก.ไทยครึ่งปีหลังถดถอย

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ห่วงเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง เสี่ยงเผชิญภาวะถดถอยทางเทคนิค จากผลกระทบสงครามการค้า หั่น GDP ปี 68 เหลือโต 1.5% จับตา กนง.มีโอกาสลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ ขณะที่เงินบาทระยะยาวมีแนวโน้มแข็งค่า


  • ศก.ไทยเสี่ยงภาวะถดถอยทางเทคนิค คาดปีนี้โตแค่ 1.5%

SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2568 ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน อาจขยายตัวได้ราว 3% ตามการขยายตัวของการส่งออกสินค้าที่เร่งตัวก่อนการขึ้นภาษี การบริโภคภาคเอกชน และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ขณะที่เหตุแผ่นดินไหว เริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวชัดเจนขึ้น สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมหลังเกิดเหตุการณ์จนถึงช่วงสงกรานต์ที่ปรับลดลงจากปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวบางกลุ่มยังคงเติบโตดี เช่น อินเดีย และรัสเซีย

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง เสี่ยงเผชิญภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical recession) จากผลสงครามการค้ารอบใหม่นี้ และความไม่แน่นอนที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบสูงจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ โดยอาจขยายตัวเพียง 1.5% ในปี 68 (เดิมมอง 2.4%) จากการส่งออกที่จะหดตัวในช่วงครึ่งปีหลัง และการลงทุนภาคเอกชนที่แผนการลงทุนใหม่ ตลอดจนการบริโภคภาคเอกชนอาจชะลอออกไป ตามแนวโน้มสงครามการค้าที่รุนแรงกว่าคาด และความไม่แน่นอนสูงของนโยบายการค้าสหรัฐฯ และภาวะเศรษฐกิจโดยรวม

โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มได้รับผลกระทบสูงจากสงครามการค้า เนื่องจากไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งยังนำเข้าสินค้าจีนมากขึ้นด้วย หลังจากจีนทยอยลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ การประเมินผลกระทบทางตรงผ่านสินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ มีแนวโน้มได้รับผลกระทบรุนแรง เนื่องจากไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สูง สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปสหรัฐฯ สัดส่วนกว่า 80% จะโดนเก็บอัตราภาษีตอบโต้สูงกว่าประเทศคู่แข่ง รวมถึงการประเมินผลกระทบทางอ้อมผ่านการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะจีน ที่โดนกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ สูงมากและตอบโต้กลับในลักษณะเดียวกัน

SCB EIC ประเมินว่า หากสหรัฐฯ เก็บภาษีตอบโต้สินค้าไทย 36% ตามที่ประกาศไว้จริง มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ จะลดลงสะสมราว 8.1 แสนล้านบาท หลังภาษีประกาศใช้นาน 5 ปี อย่างไรก็ดี ต้องติดตามผลการเจรจาของภาครัฐ เพื่อประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจริงอย่างต่อเนื่อง

โดยสงครามการค้ารอบใหม่นี้ จะส่งผลต่อภาคธุรกิจไทยเป็นวงกว้าง แต่ธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบสูง ส่วนใหญ่ผลิตสินค้าที่พึ่งตลาดสหรัฐฯ สูง และอาจเสียส่วนแบ่งตลาดให้คู่แข่ง หรือเป็นสินค้าขั้นกลางและขั้นปลายที่พึ่งอุปสงค์จีนสูง หรือเป็นสินค้าที่อาจถูกกระทบจาก Global slowdown หรือ China influx เข้าไทยรุนแรงขึ้น เช่น เซมิคอนดักเตอร์ คอมพิวเตอร์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์สื่อสาร แผ่นวงจรพิมพ์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ SCB EIC ยังประเมินว่าลูกจ้างราว 11% ของลูกจ้างทั้งหมด เข้าข่ายที่อาจได้รับผลกระทบสูงตามมา


SCB EIC มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 3 ครั้งในปีนี้ สู่ระดับ 1.25% ภายในสิ้นปี 68 เพื่อรองรับเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอลงตามความไม่แน่นอนที่ปรับสูงขึ้นมาก จากนโยบายการค้าสหรัฐฯ ประกอบกับความตึงตัวของภาวะการเงินที่มีอยู่เดิม โดยมีความเป็นไปได้สูงที่ กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในการประชุมวันที่ 30 เม.ย. 68 ทั้งนี้ ประเมินว่าระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีนี้จะต่ำกว่าช่วงปี 61-62 ที่เกิดสงครามการค้า 1.0 ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งขณะนั้นไทยยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง


  • มองกรอบเงินบาท ณ สิ้นปี 32.50-33.50 บาท/ดอลลาร์

สำหรับเงินบาทที่กลับมาแข็งค่าเร็ว หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เลื่อนขึ้น Reciprocal tariffs ในระยะสั้นคาดว่าเงินบาทมีโอกาสกลับมาอ่อนค่าในกรอบ 33.50-34.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากสหรัฐฯ อาจกลับมาขึ้น Reciprocal tariffs บางส่วนได้ และเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะเติบโตชะลอลง

ส่วนในระยะยาว คาดว่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในกรอบ 32.50-33.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าจากความเชื่อมั่นต่อสินทรัพย์สหรัฐฯ ลดลง ขณะที่สกุลเงินหลักอื่นแข็งค่าขึ้น ประกอบกับราคาทองสูงยังช่วยพยุงเงินบาท ในภาพรวมเมื่อพิจารณาดัชนีค่าเงินบาทเทียบกับคู่ค้าคู่แข่งหลัก พบว่ามีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทยถูกกระทบเพิ่มเติม จากประเด็นการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ได้อีกด้วย


  • ศก.โลกปีนี้ เหลือโต 2.2% หลายประเทศผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น

SCB EIC ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 68 เหลือ 2.2% (เดิม 2.6%) จากกำแพงภาษีสหรัฐฯ และการโต้กลับ ปัจจุบันสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าขั้นต่ำ (Universal tariff) 10% กับเกือบทุกประเทศทั่วโลกแล้ว และเก็บภาษีเฉพาะรายสินค้า (Specific tariff) หลายรายการ เช่น ยานยนต์ เหล็ก อะลูมิเนียม รวมถึงเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal tariff) สินค้าจีนสูงถึง 125% (หากรวม Specific tariff จะเป็น 145%) สหรัฐฯ มีแนวโน้มจะเริ่มเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้คู่ค้าราว 60 ประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาส 3 หลังพ้นช่วงเจรจา 90 วัน โดยเอเชีย และอาเซียน เป็นกลุ่มประเทศที่อาจได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในระดับสูง

SCB EIC ประเมินว่าภาครัฐทั่วโลก ใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อพยุงเศรษฐกิจ แต่ความไม่แน่นอนยังสูง โดยมองว่า ในปีนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะลดดอกเบี้ยรวม 75 bps (เดิมมอง 50 bps) เพื่อลดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย แม้ความเสี่ยงเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น

ส่วนธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเร่งลดดอกเบี้ยรวม 125 bps (เดิมมอง 100 bps) เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ ขณะที่ความเสี่ยงเงินเฟ้อไม่สูงนัก ขณะที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) มีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (7-day reverse repo) รวม 50 bps ในปีนี้ (คงมุมมองเดิม) และอาจคงระดับอัตราดอกเบี้ยนี้ไม่ให้ต่ำกว่า 1% เพื่อรักษาพื้นที่ทางนโยบายสำหรับเหตุการณ์ด้านลบอื่นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ