ปลัดคลัง ยอมรับ GDP 3% ปีนี้ยากหลังเทรดวอร์มีผลกระทบ จับตาแถลง GDP Q1/68 ต้นพ.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 29, 2025 14:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีธนาคารโลกปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 68 เหลือโต 1.6%ว่า ยอมรับว่า GDP ปีนี้ 3% หรือ 3% กว่าที่เราตั้งใจคงยากแล้ว แต่ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตแค่ 1.6% เพราะขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าสุดท้ายแล้วการเจรจาภาษีระหว่างไทยกับสหรัฐฯ จะมีข้อตกลงสุดท้ายอย่างไร อัตราภาษีเป็นเท่าไร หรือมีผลกระทบกับกลุ่มสินค้าใดบ้าง การเจรจาของทีมไทยแลนด์จะบรรลุผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด

สิ่งที่ 2 ประเทศมหาอำนาจมีปัญหากัน ย่อมส่งผลกระทบต่อการค้าโลกอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่เราต้องทำต่อไปคือ ถ้าไม่ถึง 3% แล้ว จะทำอย่างไรให้ต่ำกว่า 3% น้อยที่สุด เพื่อรองรับสถานการณ์

"วันนี้เร็วไปที่จะประเมิน แต่แน่นอน มีผลกระทบกับการค้าโลกแน่ ถ้าประเทศมหาอำนาจเขามีปัญหากัน เราเป็นประเทศเล็ก ๆ ยังไงก็ต้องได้รับผล ขึ้นกับการรับมือ ว่าจะทำอย่างไร" ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุ

นายลวรณ กล่าวว่า ในวันที่ 1 พ.ค.นี้ กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะแถลงภาพรวมภาวะเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในไตรมาส 1/68 ซึ่งจะยังไม่รวมผลกระทบจากนโยบายภาษีของสหรัฐ เนื่องจากปัจจุบันข้อมูลยังไม่นิ่ง เพราะยังอยู่ในขั้นตอนที่ต้องมีการเจรจาระหว่างไทย-สหรัฐ ทั้งในแง่ของรายการสินค้า และอัตราภาษีที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บจากสินค้านำเข้าของไทย

"ความพร้อมในการเจรจาสหรัฐ หากตอนนี้ข้อมูลไม่ได้เปลี่ยนก็พร้อมที่จะเจรจา 100% ส่วนโจทย์ต่อไป ตอนนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าจะเก็บในอัตราเท่าไร ตัวไหนที่โดนบ้าง ยังไม่มีอะไรแน่นอน หรือจะถูกกดดันในเรื่องอื่นอีกหรือไม่" นายลวรณ กล่าว

*หวัง กนง. ร่วมใช้นโยบายการเงิน พยุงผลกระทบเศรษฐกิจไทย

ส่วนกรณีอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากในวันพรุ่งนี้ (30 เม.ย.) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังไม่พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงนั้น ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เราต้องช่วยกันในหลายมาตรการ กนง.คงต้องนำข้อมูลใหม่ที่เกิดขึ้นไปประกอบการตัดสินใจ ซึ่งแน่นอนว่า นโยบายการเงินต้องมีผลต่อการดูแลเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน ต้องช่วยกัน

"วันนี้ เชื่อว่า กนง.คงดูครบในทุกมิติ ทั้งการค้าที่จะลดลงแน่ ภาพของการส่งออกชะลอตัวอย่างแน่นอน จากนโยบายภาษีของสหรัฐ นโยบายการเงิน ต้องทำหน้าที่อย่างไร ก็ต้องทำควบคู่กับนโยบายการคลังด้วย...ตอนนี้หลายประเทศก็เริ่มใช้นโยบายการเงินในทิศทางนี้ (นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย) เชื่อว่า กนง. มีข้อมูลครบถ้วนที่จะพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมที่สุด" นายลวรณ กล่าว

*แผนกู้เงิน 5 แสนล้าน ต้องพิจารณาความจำเป็น

ปลัดกระทรวงการคลัง ชี้แจงถึงกรณีกระแสข่าวเรื่องแผนการกู้เงิน 5 แสนล้านบาทว่า ขณะนี้ยังกระทรวงการคลังยังไม่มีแผนว่าจะต้องกู้เงินจำนวน 5 แสนล้านบาทที่ออกมาตามข่าว ซึ่งก่อนที่จะใช้แนวทางการกู้เงินนั้น ขั้นตอนแรก จะต้องมาพิจารณาถึงความจำเป็นว่าจะต้องดำเนินโครงการใดที่จะมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ เช่น การปรับโครงสร้างการผลิต การลงทุน ต้องทำอย่างไร ถึงจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ถ้ารู้ขั้นตอนนี้ ถึงจะรู้ว่าต้องใช้เม็ดเงินเท่าไร ถ้ามีเงินพอก็ทำได้เลย แต่ถ้าไม่พอก็ค่อยกู้

"ไม่ได้บอกว่าจะต้องกู้ 5 แสนล้านบาท แค่มีความจำเป็นว่าต้องทำอะไร เช่น การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การใช้เงินเพื่อการลงทุน ต้องรู้ก่อนว่าอยากทำอะไร จากนั้นต้องดูว่าสิ่งที่เราจะทำ ใช้เงินเท่าไร และดูว่าเงินมีอยู่เท่าไรจากงบประมาณ การเกลี่ย การจัดสรรทั้งหลายมาได้เท่าไร ส่วนที่ขาดอยู่ ถึงจะไปกู้ ดังนั้น การที่บอกว่าตั้งต้นจะกู้ 5 แสนล้านบาท เป็นแค่ตุ๊กตาเฉยๆ ว่าคงมีผลต่อหนี้สาธารณะ 3% แต่จะกู้จริงเท่าไรนั้น ต้องเอาโครงการมาพิจารณาก่อน ต้องรู้ว่าจะทำอะไรก่อน จะกู้มาทำอะไร เมื่อรู้แล้ว ค่อยดูว่ามีเงินอยู่เท่าไร พอไหม ถ้าพอก็ไม่ต้องกู้เลย แต่ถ้าไม่พอ ขาดเท่าไร ค่อยไปกู้เท่านั้น" ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุ

ส่วนการหารือกับสำนักงบประมาณ ที่อาจต้องปรับปรุงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 68 และปี 69 ใหม่หรือไม่ หากต้องมีการกู้เงินเพิ่มเติมนั้น นายลวรณ กล่าวว่า ยังไม่มีการหารือในเรื่องนี้ ซึ่งสิ่งที่เราทำการบ้านอยู่คือ การหาขั้นตอนแรกก่อน คือ การรับมือกับบริบทการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไป วันนี้ประเทศไทยอยู่ตรงไหน ต้องปรับปรุงตัวเองอย่างไร

ปลัดกระทรวงการคลัง ย้ำว่า การเป็นหนี้ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว ตราบใดก็ตามที่รู้ว่า กู้เงินมาใช้เพื่อสิ่งใด และเรายังมีความสามารถในการชำระทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย คืนได้ตามกำหนด




เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ