ธปท.เผยศก.Q3 ดีขึ้นจาก Q2 แต่แนวโน้ม Q4 ชะลอลงหลังอุทกภัยกระทบการผลิต

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 31, 2011 15:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุในรายงานภาวะเศรษฐกิจเดือน ก.ย.54 ว่า ภาพรวมไตรมาส 3/54 ภาวะเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน หลังจากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนนำเข้าจากญี่ปุ่นคลี่คลายลงทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศค่อนข้างทรงตัวจากไตรมาสก่อน เนื่องจากรอความชัดเจนของนโยบายภาครัฐและเริ่มได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

สำหรับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์อุทกภัยคาดว่าจะส่งผลต่อภาคการผลิตอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนจากความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ที่มีความกังวลต่อความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและความต้องการจากตลาดในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น

ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจในเดือน ก.ย.54 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากทั้งผลกระทบของเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์อุทกภัยที่เริ่มส่งผลกระทบในบางสาขาเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อและการคาดการณ์เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง

การส่งออกขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 18.4 จากระยะเดียวกันปีก่อนตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่ชะลอตัว โดยเฉพาะการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ไปยังยุโรปและญี่ปุ่น และการส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปสหรัฐอเมริกา ขณะที่การส่งออกไปยังอาเซียนและจีนยังขยายตัวได้ดีโดยเฉพาะการส่งออกยางพารา ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ยานยนต์ พลาสติก และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ภาคการผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ในกลุ่มที่ผลิตเพื่อส่งออกมีทิศทางลดลงสอดคล้องกับการส่งออกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะการผลิตในหมวดฮาร์ดดิสไดรฟ์ (Hard Disk Drive) หมวดสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งหมวดหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ ขณะที่การผลิตในหมวดอื่นๆ อาทิอาหารและเครื่องดื่ม และยานยนต์ ยังขยายตัวในเกณฑ์ดี

การบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวเริ่มได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการบริโภค การจำหน่ายรถจักรยานยนต์และปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เริ่มชะลอลง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะขยายตัวในเกณฑ์ดีที่ร้อยละ 23.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่อัตราการขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อน เนื่องจากสถานการณ์อุทกภัยในภาคเหนือและภาคกลางทำให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศส่วนหนึ่งเริ่มชะลอการ เดินทาง

อย่างไรก็ดี ภาคเกษตรในเดือนนี้ยังได้รับผลกระทบจากอุทกภัยไม่มากนัก โดยผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 1.1 จากผลผลิตมันสำปะหลัง ยางพาราและปาล์มน้ำมัน เป็นสำคัญ ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 9.4 เป็นผลจากโครงการรับจำนำข้าว และราคายางพาราและปศุสัตว์ที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 10.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน

การลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวร้อยละ 8.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์เร่งตัวขึ้น ขณะที่พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลและปริมาณนำ เข้าสินค้าทุน โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ขยายตัวในอัตราชะลอลงหลังจากที่เร่งตัวไปแล้วในช่วงก่อนหน้า

ส่วนภาครัฐในปีงบประมาณ 2554 จัดเก็บรายได้ได้เกินเป้า สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่ขยายตัว ขณะที่ยังมีการเร่งเบิกจ่าย ช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวชะลอลง ส่งผลให้การนำเข้าที่ไม่รวมทองคำขยายตัวร้อยละ 20.7 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 41.2 โดยการนำเข้าสินค้าขั้นกลางและสินค้าทุนชะลอลงตามแนวโน้มการผลิตเพื่อการส่งออก และการนำเข้า น้ำ มันดิบชะลอลงชั่วคราวเนื่องจากมีการปิดปรับปรุงโรงกลั่น (ปิดเดือนกันยายนถึงตุลาคม)

เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศ เงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงตามราคาในหมวดพลังงานเป็นสำคัญ แต่เงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเร่งขึ้นจากแรงส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังราคาอาหารสำ เร็จรูปและเครื่องประกอบอาหาร ขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อและต้นทุนยังทรงตัวในระดับสูง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ