วิจัยกสิกรคาดน้ำท่วมฉุดจีดีพี Q4 ติดลบ 3.3-6.3% ทั้งปี 54 เหลือโต 1.7%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 31, 2011 17:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลกระทบน้ำท่วมรุนแรงที่มีต่อเศรษฐกิจไทยจะเริ่มส่งผลชัดเจนโดยสะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจในเดือนต.ค.-พ.ย.นี้ โดยคาดว่า GDP ไตรมาส 4/54 จะติดลบราว 3.3-6.3% จากเดิมที่คาดไว้ก่อนเกิดเหตุน้ำท่วมว่าจะขยายตัวได้ 4.9% ขณะที่ GDP ทั้งปีนี้อาจโตเหลือเพียงแค่ 1.7%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แม้ภาพรวมของเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนก.ย.54 จะยังไม่สะท้อนภาพในเชิงลบของกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกไปในวงกว้าง แต่คาดว่าผลกระทบจากภาวะอุทกภัยครั้งร้ายแรงในรอบหลายทศวรรษของไทย จะเพิ่มแรงกดดันในวงกว้างและให้ภาพชัดเจนมากขึ้นในเครื่องชี้เศรษฐกิจเดือนต.ค.-พ.ย.54 ก่อนที่ทิศทางการฟื้นตัวจะเริ่มขึ้นบางภาคส่วน โดยเฉพาะเครื่องชี้ด้านการบริโภคและกิจกรรมก่อสร้างในเดือน ธ.ค.54 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูประเทศหลังระดับน้ำท่วมเริ่มลดลง

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของไทย และทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จะกดดันให้เศรษฐกิจไทยสูญเสียโมเมนตัมการขยายตัวอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 4/54 โดยอัตราการหดตัวของจีดีพีน่าที่จะอยู่ในกรอบ 3.3-6.3% เทียบกับประมาณการเดิมก่อนช่วงน้ำท่วมที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 4.9%

โดยระดับความรุนแรงของการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงเวลาดังกล่าว จะขึ้นอยู่กับ 2 สมมติฐาน คือ กรณีพื้นฐานที่ ระดับน้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ยประมาณ 50 ซม.(30-150 ซม.) กินเวลาประมาณ 1 เดือน และกรณีเลวร้ายที่ระดับน้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ยที่สูงขึ้นเป็น 80 ซม. และกินเวลานานมากขึ้นเป็น 1 เดือนครึ่ง

ทั้งนี้ จากการที่ปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ของประเทศ และภาวะความเสี่ยงของเศรษฐกิจต่างประเทศ เป็นปัจจัยลบที่มีนัยสำคัญค่อนข้างมากต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ในกรณีพื้นฐานว่า อัตราการขยายตัวของจีดีพีปี 54 น่าที่จะชะลอลงมาอยู่ที่ 1.7% และมีโอกาสชะลอลงรุนแรงมาที่ 0.9% ในกรณีเลวร้าย

สำหรับประเด็นที่จะต่อเนื่องผูกพันไปยังแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 55 นั้น คือ แผนการฟื้นฟูประเทศหลังน้ำลด ทั้งในส่วนที่กระตุ้นโดยตรงจากโครงการภาครัฐ และมาตรการส่วนอื่นๆ ที่สนับสนุนและเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนในประเทศ ซึ่งรัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการทันที เพื่อกระตุ้นโมเมนตัมการใช้จ่ายในประเทศกลับมา ช่วยชดเชยผลกระทบที่ไม่แน่นอนของทิศทางเศรษฐกิจโลกในช่วงปีข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ