ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดยอดขายที่ดินนิคมฯ Q4/54 ชะลอลง-ต่อเนื่องถึง H1/55

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 31, 2011 17:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในปี 54 มาอยู่ที่ประมาณ 4,550-5,015 ไร่ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.5-38.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่มองว่าอาจจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.2-72.6 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากวิกฤติน้ำท่วมอย่างหนักในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่งคงจะมีผลต่อการการเติบโตของยอดขายนิคมอุตสาหกรรมในช่วงที่เหลือของปีนี้

โดยเฉพาะยอดขายในนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมให้ชะลอตัวลง อันเนื่องจากภาวะน้ำท่วมที่มีผลให้กิจกรรมการซื้อขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมจะชะลอตัวลงชั่วคราว ทำให้ภาพรวมยอดขายที่ดินนิคมอุตสาหกรรมในไตรมาส 4/54 ชะลอลง โดยคาดว่ายอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาสนี้อาจจะหดตัวประมาณร้อยละ 10.5-20.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงมากในปี 2553 ที่ผ่านมา) อย่างไรก็ดี ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมยังคงมีการเติบโตที่ดี

ส่วนแนวโน้มปริมาณการขายที่ดินของนิคมอุตสาหกรรมในปี 55 คาดว่าในระหว่างที่นิคมอุตสาหกรรมที่ประสบภัยยังอยู่ในช่วงฟื้นฟูบูรณะความเสียหายนั้น ธุรกรรมการทำสัญญาและการโอนกรรมสิทธิ์ซื้อขายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม อาจมีความล่าช้าออกไป ซึ่งอาจทำให้ภาพรวมยอดขายที่ดินของนิคมอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งปีแรก ยังไม่สดใสนัก เมื่อเทียบกับยอดขายในช่วงครึ่งแรกของปี 54 ที่เติบโตสูง

แต่หลังจากเหตุการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ภาวะการซื้อขายที่ดินน่าจะกลับมาดีขึ้น ตัวแปรสำคัญคงต้องขึ้นอยู่กับมาตรการของภาครัฐในการที่จะเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ อาทิ การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ประกอบการที่โรงงานได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม รวมถึงความชัดเจนของนโยบายเกี่ยวกับแนวทางการป้องกันน้ำท่วมอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม ตลอดจนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การพัฒนาระบบคูคลอง ประตูน้ำต่างๆ และการจัดการบริหารน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อมิให้เกิดปัญหาอย่างในปี 54

สำหรับผู้ประกอบการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเองต่างเตรียมแผนฟื้นฟูกู้นิคมอุตสาหกรรมหลังน้ำลด รวมถึงคงเร่งวางแผนทางธุรกิจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่างชาติ โดยเตรียมงบประมาณมูลค่าสูง เพื่อฟื้นฟูบูรณะซ่อมแซมความเสียหาย และพัฒนาระบบป้องกันน้ำที่แข็งแรงและรับมือกับระดับน้ำที่สูงได้ดีขึ้น

ดังนั้น ปัญหาน้ำท่วมได้กลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายผู้ประกอบการที่จะต้องหาแนวทางป้องกันน้ำท่วมไม่ให้เกิดการสูญเสียมากขึ้นในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่าการลงทุนสร้างแนวป้องกันน้ำท่วม แม้จะเป็นการเพิ่มต้นทุนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ แต่เพื่อรักษาฐานธุรกิจในระยะยาวแล้วจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการมีแผนที่จะปกป้องนิคมอุตสาหกรรมของตนเองไม่ว่าจะเป็นแผนที่จะเพิ่มขนาดกำแพงรอบนิคมอุตสาหกรรม หรือการจัดการระบบการระบายน้ำรอบนิคมอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนที่ตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมของตน และนักลงทุนที่มีแผนที่จะเข้ามาตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมของตนในระยะข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ