นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้เตรียมความพร้อมในการรองรับสถานการณ์ของนิคมอุตสาหกรรมที่เหลืออีก 8 แห่งทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกไว้เต็มที่อยู่แล้ว
ส่วนการฟื้นฟูโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่ จ.พระนครศรีอยุธยานั้น ในช่วงบ่ายวันนี้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ จะมีการประชุมหาแนวทางการฟื้นฟูโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยหากโรงงานในพื้นที่ใดพร้อมก็จะทำการสูบน้ำออกและกอบกู้สถานการณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน
หลังจากนั้นจะพิจารณาเป็นรายกรณีว่าโรงงานใดสามารถซ่อมแซมเครื่องจักรได้ หรือบางโรงงานต้องการผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาก็จะจัดหาให้ รวมถึงการนำเข้าเครื่องจักรจะอำนวยความสะดวกเรื่องใบอนุญาตนำเข้าเครื่องจักรให้ด้วย
นอกจากนี้ ในวันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ของ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)จำนวน 1 แสนล้านบาทที่จะใช้ช่วยเหลือผู้ประกอบการ
ด้านนายกิตติรัตน์ กล่าวว่า การหารือถึงการฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมจะมีขึ้นในเย็นวันนี้ เพื่อเตรียมดำเนินการทันทีหลังน้ำลด รวมถึงพื้นที่อื่น ๆ ก็ทำไปพร้อมกับระดับน้ำที่ลดลง โดยคาดว่าอีกสัปดาห์หนึ่งจะสามารถเข้าไปสำรวจความเสียหายในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร และนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคได้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คงยังไม่สามารถกำหนดวงเงินลงไปชัดเจนว่าจะต้องใช้ในการฟื้นฟูสภาพหลังน้ำลดเท่าใด เนื่องจากยังเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมอยู่ แต่เชื่อว่าคงจะต้องใช้เงินหลายแสนล้านบาท โดยหลังจากสถานการณ์ทุทกภัยคลี่คลายแล้ว นายกรัฐมนตรีคงจะเชิญบุคคลที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศมาให้คำปรึกษา เมื่อได้คนที่เชื่อถือได้ก็จะเป็นการการันตี โดยเฉพาะบริษัทก่อสร้างต่างประเทศที่อยู่ภายใต้กฎหมายป้องกันคอรัปชั่นของแต่ละประเทศอยู่แล้ว
"การกำหนดวงเงินคงไม่ได้กำหนดโดยฝ่ายการเมือง แต่จะกำหนดโดยผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่รัฐบาล สำหรับผู้เชี่ยวชาญต้องพิจารณาเทคโนโลยีหลายด้าน เช่น เนเธอร์แลนด์ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น มีการระดมสมองผู้นำองค์กรที่เกี่ยวข้องในประเทศ สภาอุตฯ สมาคมวิศวกรรมสถาน นักวิชาการด้านวิศวกรรม คิดว่าการดำเนินการจะต้องทำทันทีเพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน วงเงินที่กำหนดจะมากับการเขียนแผนงานที่ทำได้จริง"นายกิตติรัตน์ กล่าว