(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน ต.ค. เพิ่มขึ้น 4.19%,Core CPI เพิ่มขึ้น 2.89%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 1, 2011 15:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI)เดือน ต.ค.54 อยู่ที่ 113.07 เพิ่มขึ้น 4.19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.19% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.54 ส่งผลให้ CPI เฉลี่ย 10 เดือนของปีนี้(ม.ค.-ต.ค.54) เพิ่มขึ้น 3.79% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ(Core CPI) เดือน ต.ค.54 อยู่ที่ 106.83 เพิ่มขึ้น 2.89% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.07% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.54 ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ย 10 เดือนของปีนี้ เพิ่มขึ้น 2.28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับสาเหตุที่เงินเฟ้อต.ค.สูงขึ้น 4.19% เป็นผลจากดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 9.86% จากการสูงขึ้นของสินค้าหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง 1.72% เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ 11.40% ไข่และผลิตภัณฑ์นม 7.14% ผักและผลไม้ 15.49% เครื่องประกอบอาหาร 15.13% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1.92% และอาหารสำเร็จรูป 9.8% ส่วนดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.75% จากการสูงขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิง 0.66% หมวดเคหะสถาน 1.7% หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล 1.01% เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อแยกเป็นรายการสินค้าพบว่า ข้าวสารเจ้าราคาสูงขึ้น 1.26% ข้าวสารเหนียว สูงขึ้น 2.12% ผลไม้สด สูงขึ้น 20.20% ไข่ไก่ สูงขึ้น 20.13% เพราะฟาร์มเลี้ยงไก่เสียหายจากภาวะน้ำท่วม และการขนส่งทำได้ยากลำบาก ทำให้ไข่ไก่ในพื้นที่น้ำท่วมราคาสูงขึ้นมาก เช่น จ.อยุธยา เนื้อหมู สูงขึ้น 17.28% กับข้าวสำเร็จรูป 17.48% สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป เช่น ของใช้ส่วนบุคคล ราคาสูงขึ้น 1.31% เช่น สบู่ ยาสีฟัน แป้งทาผิวกาย ขณะที่สินค้าที่อยู่กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ควบคุมดูแล เช่น น้ำประปา ราคาสูงขึ้น 1.50% ค่าไฟฟ้า 7.93% เป็นผลจากรัฐบาลยกเลิกมาตรการค่าไฟฟ้าฟรีแก่ประชาชน และน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาสูงขึ้น 0.66%

นายยรรยง กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อในปีนี้ ที่สำคัญ คือ สถานการณ์น้ำท่วม ถ้ากินเวลานานจะทำให้แหล่งผลิตอาหาร โดยเฉพาะสินค้าเกษตรเสียหาย ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคที่โรงงานหลายแห่งจมน้ำก็ยังไม่สามารถกู้ได้จะทำให้สินค้าเหล่านี้หายไปจากตลาด ประกอบกับ ต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อเนื่องให้ราคาสินค้าสูงขึ้น และเป็นแรงกดดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นได้

แต่จากกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลง เพราะน้ำท่วมทำให้รายได้ลดลง จะช่วยลดแรงกดดันของเงินเฟ้อได้ส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องเร่งกระตุ้นการบริโภคในประเทศให้เร็วที่สุด เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้

ส่วนอัตราเงินเฟ้อปี 54 คาดว่าจะขยายตัว 3.8% จากเป้าหมายที่ทางกระทรวงพาณิชย์คาดไว้ที่ 3.7% เนื่องจากจากสถานการณ์น้ำท่วมจะมีผลต่อ CPI ราว 0.1%

"ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในประเทศขณะนี้ คาดจะทำให้เงินปีนี้สูงขึ้น 0.1% โดยไตรมาส 4 จะสูงขึ้น 0.38% หรือทำให้คาดการณ์เงินเฟ้อไตรมาส 4 อยู่ที่ 3.8-3.9% จากเดิมคาด 3.5-3.6% ส่งผลให้เงินเฟ้อทั้งปีนี้ขยายตัว 3.8% เกินเป้าหมายเดิม" นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

นายยรรยง กล่าวว่า แม้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่จะทำให้เงินเฟ้อไทยปีนี้เพิ่มขึ้นเกินเป้าหมายเป็น 3.8% แต่ยังไม่สูงมาก ซึ่งเท่ากับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้ปรับลดคาดการณ์ลงเหลือ 3.8% จากเดิมคาด 3.9% และต่ำกว่าอีกหลายประเทศในเอเชีย เช่น เวียดนาม ตั้งเป้าหมายปีนี้ 13.5% อินเดีย เป้าหมาย 8% อินโดนีเซีย เป้าหมาย 7.1%

ส่วนสถานการณ์ในปีหน้ายังไม่สามารถคาดการณ์ได้ในขณะนี้ คงต้องรอดูผลกระทบจากน้ำท่วม และการฟื้นตัวของภาคเอกชนไทยก่อน หากฟื้นตัวและกลับมาผลิตสินค้าได้เร็ว ผลกระทบก็จะน้อยลงและเงินเฟ้ออาจไม่สูงมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ