ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ยูโรร่วง 1.12% จากข่าวกรีซทำประชามติข้กตกลงกู้วิกฤต

ข่าวต่างประเทศ Wednesday November 2, 2011 07:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินยูโรร่วงลงติดต่อกัน 3 วันทำการเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (1 พ.ย.) หลังจากรัฐบาลกรีซประกาศว่าจะจัดทำประชามติเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนตัดสินใจว่าจะยอมรับข้อตกลงการกู้วิกฤตหนี้ของประเทศหรือไม่ ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้เพิ่มความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาหนี้กรีซ รวมทั้งความกังวลที่ว่าวิกฤตหนี้กรีซอาจลุกลามออกไปเป็นวงกว้าง

ค่าเงินยูโรร่วงลง 1.12% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.3701 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันจันทร์ที่ 1.3856 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่สกุลเงินปอนด์ร่วงลง 0.88% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.5947 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.6088 ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น 0.17% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 78.330 เยน จากระดับ 78.200 เยน และพุ่งขึ้น 1.09% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.8868 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.8772 ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลง 1.95% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.0329 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.0535 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ร่วงลง 1.40% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.7948 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.8061 ดอลลาร์สหรัฐ

สกุลเงินยูโรร่วงลงกว่า 1% หลังจากนายจอร์จ ปาปันเดรอู นายกรัฐมนตรีกรีซประกาศว่า รัฐบาลกรีซจะจัดการทำประชามติเพื่อให้ประชาชนมีส่วนตัดสินใจว่าจะยอมรับข้อตกลงในมาตรการแก้ไขวิกฤติหนี้กรีซและยูโรโซนหรือไม่ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวครอบคลุมถึงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินรอบ 2 สำหรับกรีซในวงเงิน 1.30 แสนล้านยูโร และการปรับลดมูลค่าพันธบัตรรัฐบาลกรีซลง 50 % เพื่อที่กรีซจะมีความสามารถในการชำระหนี้ได้มากขึ้น

การจัดการลงประชามติได้สร้างความวิตกกังวลให้กับตลาดเป็นอย่างมาก เนื่องจากผลสำรวจความเห็นครั้งล่าสุดระบุว่า ชาวกรีซเกือบ 60% มีความเห็นคัดค้าน หรืออาจคัดค้านต่อข้อตกลงในการประชุมสุดยอดของสหภาพยุโรป (อียู) ในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่ผู้นำยุโรป และประธานธนาคารโลกได้ออกมาแสดงความวิตกกังวลต่อกรณีที่รัฐบาลกรีซประกาศว่าจะจัดทำประชามติ โดยนายโรเบิร์ต โซลิก ประธานธนาคารโลกเตือนว่า หากชาวกรีซลงมติไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว ก็จะทำให้กรีซเผชิญกับวิกฤตที่ร้ายแรง

สกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลงหลังจากธนาคารกลางออสเตรเลียมีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 4.50% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงครั้งแรกนับตั้งแต่ต้นปี 2552 หลังจากที่ธนาคารได้พิจารณาข้อมูลเงินเฟ้อในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ และประเมินถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับภาวะขาลง

สถาบันจัดการอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตเดือนต.ค.ขยายตัวที่ระดับ 50.8 จุด แต่ชะลอตัวลงจากเดือนก.ย.ที่สามารถขยายตัว 51.6 จุด และขยายตัวน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 52.0 จุด ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐ

ทางการสหรัฐจะเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ รวมถึงประสิทธิภาพการผลิตและต้นทุนแรงงานต่อหน่วยประจำไตรมาส 3, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดสั่งซื้อของโรงงานเดือนก.ย., ดัชนีภาคบริการเดือนต.ค. และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนต.ค.

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้น 95,000 ตำแหน่งในเดือนต.ค. หลังจากเพิ่ม ขึ้น 103,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. และอัตราว่างงานจะอยู่ที่ 9.1% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ