พาณิชย์เตรียมเสนอครม.ขยายเกณฑ์นำเข้าอาหารสัตว์จากปีต่อปี เป็น 3 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 2, 2011 12:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรงพาณชย์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการอาหารเห็นว่าควรมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การนำเข้าสินค้า 3 รายการจากต่างประเทศ จากเดิมจะพิจารณาปีต่อปี ให้เป็นการพิจารณาในกรอบเวลาเป็น 3 ปี เพื่อลดปัญหาการพิจารณาไม่ทันภายใน 1 ปี

ประกอบด้วย กากถั่วเหลือง ปลาป่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากกำลังการผลิตในประเทศอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ และเห็นว่าต้องมีคณะกรรมการพิจารณารายละเอียดอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นยังไม่มีการกำหนดรายละเอียดให้มีเงื่อนไขมากขึ้น แต่อาจเป็นการผ่อนปรนเพิ่มขึ้น เช่น การขยายเวลาอนุญาตนำเข้าเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องวางแผนการทำงานได้ดีขึ้น ทั้งผู้นำเข้าวัตถุดิบเลี้ยงสัตว์ และการวางแผนของผู้ผลิตด้วย โดยจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ซึ่งการออกมาตรการดังกล่าว เพื่อไม่ให้ถูกมองว่ารัฐบาลเก็บอำนาจไว้ตามที่มีการตั้งข้อสังเกต

ส่วนเรื่องผลกระทบจากน้ำท่วม นายกิตติรัตน์ ยอมรับว่า วัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ได้รับผลกระทบด้วย แต่โชคดีที่ยังผลิตได้ในบางชนิด แต่ที่ผลิตไม่เพียงพอก็มีการนำเข้าจากกลุ่มประเทศในอาเซียนไม่เป็นปัญหา

ด้านนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงหลักเกณฑ์การนำเข้าวัตถุดิบ 3 ชนิด ว่า กากถั่วเหลือง ในส่วนของการขยายเวลา จาก 1 ปี เป็น 3 ปี ไม่ได้จำกัดปริมาณการนำเข้า แต่ยังคิดภาษีร้อยละ 2 โดยจะคำนึงถึงผลประโยชน์ ไม่ให้กระทบจ่อผู้ปลูกถั่วเหลืองทั้งประเทศ แม้จะมีการขยายระยะเวลานำเข้า แต่ตั้งมีการควบคุมราคาน้ำมันถั่วเหลือง และต้นทุนอาหารสัตว์ โดยจะให้รมว.พาณิชย์ เป็นผู้พิจารณาถึงความเหมาะสมและกำหนดหลักเกณฑ์ในการนำเข้าสำหรับผู้นำเข้าทั้ง 8 สมาคม

ส่วนปลาป่น การพิจารณานำเข้าจะเป็นไปตามกรอบทางการค้าในกลุ่มประเทศต่างๆ อาทิ AFTA หรือ WTO ซึ่งก็ไม่จำกัดปริมาณนำเข้าเช่นเดียวกัน

ขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยังกำหนดกรอบการพิจารณานำเข้าปีต่อปี เพียงแต่มีการขยายระยะเวลานำเข้าจากเดิมสามารถนำเข้าได้ในช่วงมี.ค.-มิ.ย. เปลี่ยนเป็นมี.ค.-ก.ค. โดยปริมาณนำเข้าไม่ได้กำหนด เพียงแต่หากมีการทำคอนแท็กฟาร์มมิ่ง ก็จะมีการกำหนดปริมาณนำเข้าอยู่แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ