ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยดัชนีราคาข้าวเดือนตุลาคม 2554 มีแนวโน้มสูงขึ้น ต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 จากปัจจัยหนุนสำคัญ คือ การเกิดอุทกภัยครั้งร้ายแรงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะไทย และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 และ 2 ของโลก
อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากการที่อินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่ง โดยคาดว่าเริ่มส่งออกตั้งแต่ไตรมาส 4/54 ทำให้ประเทศผู้ซื้อข้าวหันไปซื้อข้าวจากอินเดียที่ราคาถูกกว่าข้าวไทยและเวียดนาม
สำหรับในเดือนตุลาคม 2554 ดัชนีราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้เพิ่มขึ้นไปแตะที่ระดับ 193.50 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน(MoM) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน(YoY) เนื่องจากข้าวนาปีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทยอยออกสู่ตลาด ซึ่งพื้นที่ปลูกไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะพื้นที่ดอน และคุณภาพข้าวอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากปริมาณน้ำเพียงพอ กอปรกับการเริ่มดำเนินการมาตรการรับจำนำข้าว
ส่วนดัชนีราคาขายส่งหน้าโรงสี และดัชนีราคาส่งออกยังมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยดัชนีราคาขายส่งหน้าโรงสีในเดือนตุลาคมอยู่ในระดับ 189.93 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า(MoM) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน(YoY) ส่วนดัชนีราคาส่งออกข้าวทุกประเภทของไทยเพิ่มขึ้นไปที่ระดับ 184.75 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 MoM และร้อยละ 10.6 YoY เนื่องจากบรรดาโรงสีเร่งกว้านซื้อข้าวเก็บเข้าสต็อกในช่วงผลผลิตข้าวนาปรังรอบ 2 ในพื้นที่ภาคกลาง และข้าวนาปีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือออกสู่ตลาด โดยแข่งขันกับโรงสีที่รับจำนำข้าว เนื่องจากวงการค้าข้าวประเมินว่าปริมาณผลผลิตข้าวนาปีจะมีแนวโน้มลดลง จากปัญหาอุทกภัยทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาข้าวในช่วงปลายปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ด้านดัชนีราคาข้าวส่งออกข้าวขาว 5% ทั้งของไทยและเวียดนามในเดือนตุลาคม 2554 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น161.29 และ 174.00 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 และ 2.4 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2554 เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตทั้งข้าวนาปรังรอบสองในพื้นที่ภาคกลาง และผลผลิตข้าวนาปีบางส่วนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ตาม การปรับตัวขึ้นในเดือนตุลาคมเริ่มมีอัตราที่ชะลอลง หลังจากที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เนื่องจากประเทศผู้ซื้อต่างประเทศหันไปซื้อข้าวจากอินเดียแทน ทำให้คำสั่งซื้อข้าวของไทยลดลง ในขณะที่เวียดนามรับคำสั่งซื้อเต็มไปจนถึงช่วงไตรมาส 1/55
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ดัชนีราคาข้าวของไทยหดตัวร้อยละ 0.8 ในขณะที่ดัชนีราคาส่งออกข้าวของเวียดนามเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 16.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นว่าราคาข้าวเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ และเริ่มขยับเข้ามาใกล้กับราคาส่งออกข้าวของไทยมากขึ้น โดยได้รับอานิสงส์จากการที่ประเทศผู้ซื้อหันไปซื้อข้าวจากเวียดนามที่มีราคาถูกกว่าไทย
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าปริมาณการส่งออกข้าวของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2554 น่าจะอยู่ในระดับเฉลี่ยประมาณ 0.56 ล้านตัน/เดือน ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกข้าวทั้งปีอยู่ในระดับ 10.5 ล้านตัน เนื่องจากยังต้องเผชิญการแข่งขันทั้งจากเวียดนามและอินเดีย ในขณะที่ราคาข้าวส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2554 น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยผู้ส่งออกข้าวคาดการณ์ว่า หลังน้ำลดราคาข้าวขาว 100% เกรดบีของไทยน่าจะพุ่งขึ้นไปแตะระดับ 850 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน(ประมาณ 25,500 บาท/ตัน) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.7 จากช่วงปลายเดือนตุลาคม ในขณะที่ราคาข้าวส่งออกของเวียดนามก็มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่คาดว่าอาจจะปรับขึ้นเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น เนื่องจากทางรัฐบาลเวียดนามควบคุมการปรับขึ้นของราคาส่งออกข้าว โดยเกรงผลกระทบต่อปัญหาเงินเฟ้อในประเทศ ซึ่งราคาขายปลีกข้าวสารขยับขึ้นตามราคาขายส่ง และราคาส่งออก
ประเด็นที่จะต้องติดตาม คือ ปัญหาน้ำท่วมส่งผลให้ชาวนาในพื้นที่ภาคกลางต้องเลื่อนการปลูกข้าวนาปีไปอีกอย่างน้อย 1-2 เดือน และรัฐบาลอาจต้องพิจารณาขยายมาตรการรับจำนำข้าวนาปีออกไปอีก 1-2 เดือนเช่นกัน(จากเดิมที่กำหนดสิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์) รวมทั้งการพิจารณามาตรการรับจำนำข้าวสำหรับข้าวนาปรังที่จะออกสู่ตลาดในช่วงกลางปี 2555 ด้วย เนื่องจากคาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตข้าวนาปรังในปี 2555 จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากการปลูกชดเชยความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมในช่วงปลายปี 2554 และการที่ราคาข้าวอยู่ในเกณฑ์สูงยังเป็นแรงจูงใจให้ชาวนาเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าว
นอกจากนี้ ยังต้องติดตามผลผลิตข้าวของเวียดนามที่จะออกสู่ตลาดในช่วงไตรมาส 3/54 (ผลผลิตประมาณร้อยละ 30 ของผลผลิตข้าวทั้งปี) ซึ่งมีผลต่อทิศทางราคาข้าวในช่วงเหลือของปี 2554 และช่วงต้นปี 2555