In Focusวิกฤติกระลอกใหม่กับการลงมติไว้วางใจรัฐบาลและการจัดทำประชามติของกรีซ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday November 2, 2011 15:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในขณะที่ประเทศไทยพึ่งจะผ่านพ้น 4 วันอันตรายอันเนื่องมาจากภาวะน้ำทะเลหนุนสูงสุด และอีกหลายวันอันตรายไปก่อนหน้านี้ กรีซก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานเช่นเดียวกัน แต่อันตรายที่ทางกรีซเผชิญอยู่ ไม่ใช่เหตุอุทกภัยครั้งใหญ่เหมือนบ้านเรา แต่เป็นการจัดให้มีการลงมติไว้วางใจรัฐบาลและการจัดทำประชามติเรื่องแผนการช่วยเหลือทางการเงินแก่กรีซ

ทั่วโลกต่างอึ้งไปตามๆกันกับการตัดสินใจจัดทำประชามติของนายกรัฐมนตรีจอร์จ ปาปันเดรอู ของกรีซ โดยตลาดหุ้นทั่วโลกเมื่อวันอังคารและวันนี้พากันดิ่งลงถ้วนหน้า เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการตัดสินใจครั้งล่าสุดของรัฐบาลกรีซ ทั้งที่ไม่ว่าจะยังไง กรีซเองก็ต้องได้รับความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศอยู่แล้ว หลังจากที่ผู้นำอียูมีมติให้ใช้มาตรการควบคุมวิกฤตหนี้สาธารณะ รวมทั้งการเพิ่มขนาดกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF)

นายฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ ประธานกลุ่มรัฐมนตรีคลังยูโรโซน (ยูโรกรุ๊ป) กล่าวถึงการตัดสินใจครั้งล่าสุดของกรีซว่า หากผลการลงประชามติสรุปออกมาว่า ประชาชนชาวกรีซไม่ต้องการมาตรการแก้ไขวิกฤตหนี้ที่บรรดาผู้นำยุโรปได้ให้ความเห็นชอบร่วมกันเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้วนั้น นั่นอาจจะหมายความว่า กรีซอาจจะต้องประสบภาวะล้มละลาย

ยุงเกอร์กล่าวว่า การจัดประชามติครั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า จะมีการจัดทำขึ้นมาในรูปแบบใด และมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้าง ตลอดจนผลจากการลงคะแนนเสียงของชาวกรีซว่าจะออกมาในรูปแบบใด

เพราะเหตุใด นายกฯกรีซจึงตัดสินใจจัดทำประชามติขึ้นอย่างกะทันหัน ขนาดที่รัฐมนตรีบางกระทรวงก็ยังไม่ทราบนโยบายดังกล่าว จนกระทั่งมีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ

“จอร์จ ปาปันเดรอู" ประกาศจัดทำประชามติ

จะเรียกได้ว่า ช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานสำหรับกรีซนั้นเปิดฉากขึ้นอีกครั้งเมื่อนายกฯกรีซประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า จะมีการจัดทำประชามติว่าด้วยมาตรการแก้ไขวิกฤตหนี้

ขณะที่คณะรัฐมนตรีกรีซก็ได้มีมติอย่างเป็นเอกฉันท์รับรองแนวทางการจัดประชามติเพื่อให้ประชาชนชาวกรีซได้มีสิทธิมีเสียงและมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของประเทศ

นายกฯกรีซได้ให้เหตุผลของการจัดทำประชามติในระหว่างการประชุมครม.นัดฉุกเฉินว่า การลงประชามติครั้งนี้จะเป็นการมอบอำนาจที่ชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการรัดเข็มขัดของประเทศตามที่ประเทศสมาชิกยูโรโซนได้เรียกร้องมา และยังเป็นการยืนยันถึงสถานภาพของกรีซในการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป

บีบีซีวิเคราะห์ว่า ความพยายามในการจัดประชามติและลงมติไว้วางใจรัฐบาลของนายปาปันเดรอูนี้ มีเป้าหมายที่จะปัดข้อครหาวิพากษ์วิจารณ์จากพรรคฝ่ายค้าน และป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบด้านลบภายในพรรค Pasok ซึ่งเป็นแกนนำพรรครัฐบาล เนื่องจากหากมีการลงมติไว้วางใจรัฐบาลก็เท่ากับว่า ส.ส.ภายในพรรค Pasok ไม่จำเป็นต้องแบกรับภาระหรือความรับผิดชอบไว้เพียงฝ่ายเดียว

นอกจากนี้ การประท้วงอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นหลายครั้ง เนื่องจากความไม่พอใจที่มีต่อมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลกรีซนั้น ก็เป็นอีกประเด็นที่ทางการกรีซวิตกกังวล เนื่องจากหากมีการนำมาตรการรัดเข็มขัดมาใช้โดยปราศจากการทำประชามติ การประท้วงก็ยังคงเกิดขึ้นโดยไม่หยุดหย่อน

แม้ว่าความเคลื่อนไหวของนายกฯกรีซจะก่อให้เกิดผลกระทบตามมาแม้แต่ตัวของเขาเอง โดยแกนนำภายในพรรค Pasok ได้ออกมาเรียกร้องให้นายปาปันเดรอูลาออกจากตำแหน่ง แต่ถึงกระนั้น กรีซก็จำเป็นต้องจัดทำประชามติ เนื่องจากการที่จะได้มาซึ่งความช่วยเหลือต่างๆนานาจากประเทศสมาชิกอียูและไอเอ็มเอฟนั้น กรีซก็ต้องแลกกับการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เรียกได้ว่าหนักหน่วงไม่แพ้กัน

มาตรการรัดเข็มขัดล่าสุดของกรีซ

หากมาลองพิจารณาดูมาตรการรัดเข็มขัดล่าสุดของกรีซแล้ว ก็คงจะเข้าใจได้ว่า ทำไมประชาชนถึงพากันลุกฮือประท้วงมาตรการดังกล่าวกันหลายระลอก และอาจจะเป็นชนวนอีกประการที่ทำให้นายกฯกรีซตัดสินใจจัดทำประชามติ เริ่มด้วยมาตรการทางด้านภาษี ซึ่งกรีซจะจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอีกถึง 2.32 พันล้านยูโรในปีนี้ 3.38 พันล้านยูโรในปีหน้า และเพิ่มขึ้นเป็น 152 ล้านยูโรในปี 2556 และ 699 ล้านยูโรในปี 2557

สำหรับในภาคครัวเรือนนั้น จะมีการจัดเก็บภาษี 1% และ 5% ของเงินได้ในภาคครัวเรือน และจะมีการจัดเก็บภาษีดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีก 2 ครั้งในปีหน้า ส่วนอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับภัตตาคารและบาร์ จะถูกเก็บเพิ่มขึ้นเป็น 23% จากเดิมที่ 13% โดยจะมีการยกเลิกการยกเว้นภาษีในบางรายการก่อนหน้านี้

ในส่วนของภาคสาธารณะนั้น เงินเดือนในภาคสาธารณะจะถูกหักลดลงไปเรื่อยๆจนถึงกว่า 2 พันล้านยูโรภายในปี 2558 สำหรับค่าแรงขั้นต่ำในภาคสาธารณะจะถูกหักลดไป 20% นอกจากนี้มีการเพิ่มจำนวนข้าราชการที่จะถูกหักลดเงินเดือน เป็น 30,000 รายภายในช่วงสิ้นปีนี้ จากเดิมที่วางแผนไว้ที่ 20,000 ราย โดยข้าราชการเหล่านี้จะได้รับเงิน 60% เป็นเวลา 1 ปี และจะมีการยกเลิกสัญญาการจ้างงานพนักงานชั่วคราวในภาคสาธารณะ

นอกจากนี้ ยังมีการลดงบประมาณการใช้จ่ายลง โดยจะมีการลดงบประมาณด้านกลาโหมลง 200 ล้านยูโรในปี 2555 และลดอีกปีละ 333 ล้านยูโรในปี 2556 — 2558 ขณะที่งบประมาณด้านสุขภาพก็จะหักลดลงไปอีก 310 ล้านยูโรในปีนี้ และอีก 1.81 พันล้านยูโรในปี 2555-2558 สำหรับการลงทุนในภาคสาธารณะจะถูกหักออกอีก 850 ล้านยูโรในปีนี้ งบด้านการศึกษาก็จะถูกปรับลดลงด้วยการปิดหรือควบรวมโรงเรียน 1,976 แห่ง

ในส่วนของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ทางรัฐบาลตั้งเป้าไว้นั้น กรีซเล็งระดมทุน 5 หมื่นล้านยูโรจากการปฏิรูปองค์กรต่างๆภายในปี 2558 ด้วยการจำหน่ายหุ้นในองค์กรต่างๆ เช่น ธนาคาร ผู้บริหารท่าเรือ หน่วยงานด้านการประปา สำหรับบริษัทในภาคธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศนั้น กรีซตกลงที่จะขายหุ้น 10% ของเฮลเลนนิค เทเลคอม ให้กับดอยช์ เทเลคอมเป็นเงิน 400 ล้านยูโร

ในปีหน้า รัฐบาลกรีซวางแผนที่จะขายหุ้นในหน่วยงานสำคัญๆของประเทศ ตั้งแต่ เอเธนส์ วอเตอร์ บริษัทกลั่นน้ำมันอย่างเฮลเลนนิค ปิโตรเลียม บริษัทไฟฟ้าอย่างพีพีซี ตลอดจนบริษัทผู้ดำเนินกิจการท่าเรือ สนามบิน ทางด่วน ที่ดิน และสัมปทานเหมือง

ผู้นำฝรั่งเศส-กรีซ-เยอรมนี นัดถกคืนนี้

ในคืนวันพุธตามเวลาท้องถิ่นในยุโรป นายกฯกรีซจะประชุมร่วมกับประธานาธิบดีนิโคลาส์ ซาร์โกซีย์ แห่งฝรั่งเศส และนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ก่อนที่การประชุมสุดยอด G20 ในฝรั่งเศสจะเปิดฉากขึ้นในวันที่ 3 พ.ย. เพื่อหารือถึงสถานการณ์แวดล้อมที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรการของกรีซ

นักวิเคราะห์บางรายมองว่า การติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับข้อตกลงในการช่วยเหลือกรีซนั้น เหมือนกับการนั่งรถไฟเหาะตีลังกาไม่มีผิด เพราะรถไฟจะหักเลี้ยวกะทันหันโดยที่คุณไม่ทันตั้งแต่ตัว แล้วอีกสักพักมันก็จะกลับมาอยู่ในสภาพปกติ แต่ก็เพียงชั่วคราวเท่านั้น

ภาวะผันผวนทางการเมืองครั้งใหม่ของกรีซส่งผลให้หลายฝ่ายกังขาเกี่ยวกับความสามารถของกรีซในการเข้าถึงกองทุนฉุกเฉิน ขณะที่บอร์ดของไอเอ็มเอฟมีกำหนดประชุมร่วมกันในช่วงกลางเดือนพ.ย.นี้ เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับการให้เงินช่วยเหลืองวดที่ 6 มูลค่า 8 พันล้านยูโร หรือ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น ต้องติดตามกันต่อไปชนิดวันต่อวัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ