หนังสือพิมพ์จาการ์ต้า โพสต์ ของอินโดนีเชียรายงานว่า ผลผลิตธัญพืชที่สำคัญของอินโดนีเซียที่ลดลงในปีนี้ ผนวกกับภาวะขาดแคลนข้าวในตลาดโลก อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารของประเทศและทำให้ราคาสูงขึ้นด้วย ขณะที่อินโดนีเซียกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของสภาพอากาศและภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก
นักเศรษฐศาสตร์เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับอุปทานภายในประเทศ เพื่อช่วยให้ราคาและกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจของอินโดนีเซียที่ต้องพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศนั้น ยังคงมีเสถียรภาพ ในขณะที่การนำเข้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าว ควรจะเป็นแหล่งสุดท้าย เมื่อพิจารณาถึงราคาที่ผันผวนในตลาดโลก
สำนักงานสถิติแห่งชาติของอินโดนีเซียคาดการณ์ว่า ยอดผลผลิตข้าวของอินโดนีเซียอาจลดลง 1.63% หรือ 1.08 ล้านตัน สู่ระดับ 65.39 ล้านตันในปีนี้ เนื่องจากการลดลงของพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตเฉลี่ย
สภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างรุนแรงส่งผลให้อินโดนีเซียมียอดผลผลิตข้าวและอุปทานที่ลดลงในช่วงระหว่างสิ้นปีที่ผ่านมาถึงเดือนมกราคมปีนี้ และทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 21 เดือนที่ระดับ 7.02% ในเดือนมกราคม
นอกจากนี้ คาดว่ายอดผลผลิตข้าวโพดจะลดลง 5.99% หรือ 1.1 ล้านตัน สู่ระดับ 17.23 ล้านตัน และยอดผลผลิตถั่วเหลืองจะลดลง 4.08% หรือ 36,960 ตัน สู่ระดับ 870,070 ตัน ซึ่งมีสาเหตุมาจากพื้นที่การเพาะปลูกลดลง
นายบัสทานูล อริฟิน นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการเงิน กล่าวว่า "ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้ราคาพุ่งขึ้นติดตามมา โดยในแง่ของวัฏจักร ราคาจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนมกราคม และเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากราคาอาหารมีสัดส่วนถึง 35% ของอัตราเงินเฟ้อ"
ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียได้ประชุมร่วมกับหลายประเทศ ซึ่งรวมทั้ง ประเทศไทยและเวียดนามถึงความสำคัญของข้าว ซึ่งทั้งสองประเทศได้ลงนามร่วมกับอินโดนีเซียในการส่งออกข้าวให้กับอินโดนีเซียในปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี
ด้านนายฮัตตา ราจาสา รัฐมนตรีประสานงานของอินโดนีเซียกล่าวว่า สำนักงานพลาธิการของอินโดนีเซียมียอดสต๊อกข้าวที่ 1.5 ล้านตัน และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มยอดเป็น 2 ล้านตันภายในไปนี้ สำนักข่าวซินหัวรายงาน