ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ข่าวกรีซพักแผนทำประชามติ หนุนยูโรพุ่งเทียบดอลล์

ข่าวต่างประเทศ Friday November 4, 2011 07:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินยูโรดีดตัวขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (3 พ.ย.) ขานรับข่าวที่ว่านายจอร์จ ปาปันเดรอู นายกรัฐมนตรีของกรีซได้ตัดสินใจชะลอการทำประชามติเกี่ยวกับมาตรการให้ความช่วยเหลือกรีซ ซึ่งข่าวดังกล่าวช่วยหนุนสกุลเงินยูโรดีดตัวขึ้นในช่วงท้าย หลังจากที่ยูโรร่วงลงอย่างหนักในระหว่างวัน อันเนื่องมาจากการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)

สกุลเงินยูโรดีดตัวขึ้น 0.47% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.3811 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันพุธที่ 1.3746 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้น 0.54% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.6031 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.5945 ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐขยับขึ้น 0.03% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 78.060 เยน จากระดับของวันพุธที่ 78.040 เยน แต่ดอลลาร์ร่วงลง 0.65% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.8779 ฟรังค์ จากระดับ 0.8836 ฟรังค์

ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้น 0.74% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.0413 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.0337 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลน์ดีดตัวขึ้น 0.53% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.7949 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7907 ดอลลาร์สหรัฐ

สกุลเงินยูโรดีดตัวขึ้นขานรับข่าวที่ว่านายกรัฐมนตรีปาปันเดรอูของกรีซได้ตัดสินใจถอนข้อเสนอเรื่องการทำประชามติ เนื่องจากมีความขัดแย้งกันอย่างมากในหมู่เจ้าหน้าที่ระดับสูงว่า การทำประชามติดังกล่าวอาจจะส่งผลประทบที่รุนแรงต่อข้อตกลงของผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) ในเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สินของกรีซและการเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ภาคธนาคารของยุโรป

การตัดสินใจถอนข้อเสนอการทำประชามติของนายกรัฐมนตรีกรีซช่วยพยุงสกุลเงินยูโรให้สามารถดีดตัวขึ้นในช่วงท้าย หลังจากยูโรร่วงลงอย่างหนักในระหว่างวัน เพราะได้รับแรงกดดันจากการที่ธนาคารกลางยุโรปตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 1.25% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2552

นายมาริโอ ดราจี ประธานธนาคารกลางยุโรปกล่าวภายหลังการประชุมว่า เศรษฐกิจยูโรโซนอาจเข้าสู่ภาวะ "ถดถอยเล็กน้อย" ในช่วงปลายปี 2554 และการตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้เป็นเพราะธนาคารกลางยุโรปให้น้ำหนักกับปัจจัยด้านวิกฤตหนี้ในยูโรโซน มากกว่าปัจจัยด้านเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น

นักวิเคราะห์จากบริษัทจีเอฟทีคาดว่า สกุลเงินยูโรมีแนวโน้มที่จะดีดตัวขึ้นอีก เนื่องจากการตัดสินใจชะลอแผนการทำประชามติของกรีซจะช่วยให้นักลงทุนคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ของกรีซและการที่กรีซอาจจะถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกยูโรโซน

ส่วนสกุลเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แม้สถาบันวิจัยเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของอังกฤษ (NIESR) ประมาณการว่า มีโอกาสเกือบ 50% ที่เศรษฐกิจของอังกฤษจะกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง และหากแม้เจ้าหน้าที่ผู้กำหนดนโยบายของยูโรโซนสามารถหาทางออกได้เพียงบางส่วน โอกาสที่เศรษฐกิจอังกฤษจะถดถอยจะเพิ่มขึ้นเป็น 70%

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฟื้นตัวขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน ขานรับข้อมูลด้านแรงงานที่สดใสของสหรัฐ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยเมื่อช่วงค่ำวานนี้ว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานในรอบสัปดาห์ที่แล้วลดลง 9,000 ราย สู่ระดับ 397,000 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 สัปดาห์

นักลงทุนจับตาดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนต.ค.ของสหรัฐซึ่งจะมีการเปิดเผยในเวลา 19.30 วันนี้ตามเวลาประเทศไทย โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรจะเพิ่มขึ้นราว 95,000 ตำแหน่ง และคาดว่าอัตราว่างงานจะทรงตัวอยู่ที่ 9.1% ในเดือนต.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ