ทริสฯ คงเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ไม่มีประกัน"ดั๊บเบิ้ล เอ (1991)"ที่ “BBB"/Stable

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 4, 2011 10:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงฐานะของบริษัทในการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษชนิดเยื่อใยสั้นและกระดาษพิมพ์เขียนของไทย รวมถึงการมีโรงงานที่มีประสิทธิภาพและมีการผลิตที่ครบวงจร ตลอดจนตราสัญลักษณ์ที่แข็งแกร่งของผลิตภัณฑ์กระดาษ “ดั๊บเบิ้ล เอ"

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น และราคาที่ค่อนข้างผันผวนในอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษแม้บริษัทได้ปรับปรุงผลิตภัณฑ์บางประเภทจากสินค้าโภคภัณฑ์ให้เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคแล้วก็ตาม นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังกังวลเกี่ยวกับธุรกรรมระหว่างบริษัทกับบริษัทที่เกี่ยวข้องบางรายการซึ่งอาจดำเนินอยู่ต่อไปจนกว่าการจัดโครงสร้างองค์กรจะแล้วเสร็จ

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถคงระดับภาระหนี้สินและรักษาสภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม แม้ว่าบริษัทยังอยู่ระหว่างดำเนินแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจ แต่ฐานะการเงินของบริษัทก็ไม่ควรจะถดถอยลงจากระดับปัจจุบันมากเกินไป นอกจากนี้ ยังคาดว่าเมื่อการปรับโครงสร้างธุรกิจเสร็จสมบูรณ์ บริษัทจะมีเพียงรายการระหว่างบริษัทและบริษัทที่เกี่ยวข้องที่จำเป็นและสมเหตุสมผลเหลืออยู่เท่านั้น

ทริสเรทติ้งรายงานว่า ณ เดือนสิงหาคม 2554 บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) มีนายโยธิน ดำเนินชาญวนิชย์และบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ถือหุ้นหลักในสัดส่วน 93.5% โดยบริษัทได้ถอนการจดทะเบียนออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2551 หลังจากที่นายโยธินสามารถซื้อหุ้นของบริษัทได้ในสัดส่วน 78.52% หลังจากนั้น ผู้บริหารก็ได้วางแผนปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัทโดยวางแผนจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาคในปี 2552 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยจึงส่งผลให้ต้องมีการเลื่อนแผนดังกล่าวออกไป

ในปี 2552 บริษัทได้ขายโรงไฟฟ้า 3 แห่งให้แก่ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้นบริษัทและบริษัทย่อยได้ซื้อหุ้นของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลายในสัดส่วน 36.2% ในปี 2553 บริษัทได้เริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตกระดาษโรงที่ 3 โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินงานเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) เป็นผู้นำในการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษพิมพ์เขียนในประเทศไทยโดยเป็นเจ้าของโรงงานผลิตเยื่อกระดาษจำนวน 2 โรงซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 427,000 ตันต่อปี และมีเครื่องจักรผลิตกระดาษจำนวน 3 ชุดซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 473,000 ตันต่อปี เยื่อกระดาษที่ผลิตได้ประมาณ 70%-80% นั้นบริษัทนำมาใช้เพื่อการผลิตกระดาษ และส่วนที่เหลือส่งจำหน่ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

รายได้จากการขายกระดาษในครึ่งแรกของปี 2554 คิดเป็น 90.5% ของรายได้รวมของบริษัท ส่วนรายได้ที่เหลือมาจากการขายเยื่อกระดาษ บริษัทเป็นผู้ส่งออกเยื่อใยสั้นรายสำคัญในประเทศ โดยคิดเป็นจำนวนส่งออก 47,484 ตันในปี 2553 และ 29,637 ตันในครึ่งแรกของปี 2554 ปริมาณเยื่อกระดาษที่ส่งออกในครึ่งแรกของปี 2554 เพิ่มขึ้น 54% เมื่อเทียบกับปีก่อน ในขณะที่มูลค่าที่ได้รับจากการขายเพิ่มขึ้นเพียง 46% เมื่อเทียบกับปีก่อนเนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยราคาเยื่อกระดาษมีความผันผวนค่อนข้างมากตามลักษณะของสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วไป

ในส่วนของผลิตภัณฑ์กระดาษนั้น บริษัทเน้นที่กระดาษพิมพ์เขียนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ราคากระดาษพิมพ์เขียนโดยเฉพาะแบบแผ่นนั้นค่อนข้างคงที่เมื่อเทียบกับราคาเยื่อกระดาษ ทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 รายได้จากการจำหน่ายกระดาษเพิ่มขึ้นประมาณ 5% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นประมาณ 7% เมื่อเทียบกับปีก่อน แม้ว่ารายได้จากการจำหน่ายเยื่อและกระดาษในครึ่งแรกของปี 2554 จะเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่อัตราการทำกำไรของบริษัทถือว่าอ่อนแอลง ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทมีค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อเปิดตลาดใหม่ในทวีปอาฟริกาและยุโรปตะวันออกรวมถึงต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาจึงลดลงจาก 14.0% ในปี 2553 เหลือ 10.4% ในครึ่งแรกของปี 2554

อย่างไรตาม บริษัทได้เริ่มปลูกสวนป่าของตนเองและซื้อไม้โดยตรงจากผู้ปลูก ซึ่งน่าจะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตของบริษัทได้ในระยะกลางถึงระยะยาวเนื่องจากต้นทุนการผลิตประกอบด้วยต้นทุนจากชิ้นไม้สับ (Wood Chip) ประมาณ 47% นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะลดสัดส่วนการใช้เยื่อใยยาวที่จะต้องนำเข้าและเปลี่ยนไปใช้เพียงเยื่อใยสั้นในการผลิตกระดาษด้วย

ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 บริษัทมีหนี้จำนวน 14,455 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 13,754 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2553 โดยมีหนี้เงินกู้ระยะสั้นในสัดส่วนประมาณ 33% ของหนี้สินรวม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้การค้า ณ สิ้นปี 2553 อัตราส่วนหนี้สินต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 55.9% จาก 45.0% ณ สิ้นปี 2552 อัตราส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้เนื่องมาจากการซื้อหุ้นของบริษัทคืนในสัดส่วน 14.64% ในเดือนมิถุนายน 2553 โดยซื้อคืนที่ราคา 39 บาทต่อหุ้นหรือคิดเป็นมูลค่า 3,040 ล้านบาท ส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงในจำนวนที่เท่ากัน

อย่างไรก็ตาม ส่วนของผู้ถือหุ้นปรับเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 เนื่องจากบริษัทมีการบันทึกส่วนเกินทุนจากการตีราคาที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ของกลุ่มบริษัทประมาณ 3,200 ล้านบาทในส่วนของผู้ถือหุ้น ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นที่ 50.4% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 คาดว่าภาระหนี้สินจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากในช่วงปี 2554-2556 บริษัทมีการลงทุนในโครงการโรงงานผลิตกระดาษแห่งที่ 3 มูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาทและก่อสร้างโรงงานผลิตกระดาษในประเทศบังกลาเทศมูลค่า 1,400 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ