ที่ประชุม G-20 มีมติเพิ่มทุน IMF พร้อมหนุนแนวทางปกป้องเศรษฐกิจ-การเงิน

ข่าวต่างประเทศ Saturday November 5, 2011 10:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การประชุมผู้นำประเทศอุตสาหกรรมและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในกลุ่ม G-20 ซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วันที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศสได้เสร็จสิ้นลงแล้วในช่วงค่ำวานนี้ (4 พ.ย.) ตามเวลาประเทศไทย โดยที่ประชุมมีมติให้เพิ่มเงินทุนทรัพย์ให้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อใช้ยับยั้งวิกฤตหนี้ยูโรโซนไม่ให้ฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกให้เข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ที่ประชุมไม่ได้ระบุว่าจะอัดฉีดเงินทุนใหม่ๆเพื่อใช้ในการกู้วิกฤตหนี้ยูโรโซนโดยตรง

นอกจากนี้ ที่ประชุม G-20 ยังไม่ได้ระบุจำนวนเงินที่จะอัดฉีดให้กับไอเอ็มเอฟ แต่อย่างไรก็ตาม หลายประเทศ เช่น จีน อังกฤษ และออสเตรเลีย ได้แสดงความพร้อมที่จะอัดฉีดเงินทุนใหม่ๆให้กับไอเอ็มเอฟ รวมถึงการอัดฉีดเงินให้กับกองทุนข้อตกลงใหม่ในการกู้ยืม (NAB) ของไอเอ็มเอฟ

ส่วนประเด็นสกุลเงิน SDR (Special Drawing Rights) ของไอเอ็มเอฟนั้น ที่ประชุมลงความเห็นว่า ควรจะมีการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของตะกร้าเงิน SDR เป็นระยะๆ เพื่อให้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสกุลเงินต่างๆ โดยที่ประชุมกำหนดให้มีการทบทวนตะกร้าเงิน SDR ในปี 2558 พร้อมกับเรียกร้องให้ไอเอ็มเอฟชี้แจงบรรทัดฐานของการทบทวนตะกร้าเงิน SDR ให้ชัดเจนมากขึ้น

ในด้านนโยบายการปริวรรตเงินตราต่างประเทศนั้น ที่ประชุม G-20 มีมติให้เร่งผลักดันให้มีการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดโดยกลไกตลาด และเพิ่มความยึดหยุ่นด้านอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อสะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานและหลีกเลี่ยงการลดค่าเงินซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดโลก

สำหรับประเด็นการควบคุมเงินทุน ที่ประชุม G-20 มีมติอนุมัติแนวทางการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งมีเป้าหมายที่จะป้องกันและควบคุมความเสี่ยงที่อาจจะสั่นคลอนเสถียรภาพด้านการเงินและการขยายตัวอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ซึ่งแผนการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนความคืบหน้าในตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่น

ส่วนแผนเชิงปฏิบัติสำหรับการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น สหรัฐอเมริกาให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะใกล้ ขณะที่ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา จีน เยอรมนี เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย ตกลงว่าจะใช้มาตรการสร้างเสถียรภาพด้านการคลังและกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศในทันที ส่วนประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่มียอดเกินดุลการค้าอยู่เป็นจำนวนมาก ก็ให้คำมั่นสัญาว่าจะผลักดันให้เศรษฐเติบโตด้วยการพึ่งพาอุปสงค์ภายในประเทศให้มากขึ้น

ในการประชุม G-20 ครั้งล่าสุดนี้ อิตาลีตกลงที่จะเปิดทางให้ไอเอ็มเอฟสามารถติดตามความคืบหน้าด้านการปฏิรูปของอิตาลีเป็นรายไตรมาส ขณะที่ไอเอ็มเอฟระบุว่า ไอเอ็มเอฟจะส่งทีมงานเข้าไปยังอิตาลีภายในปลายเดือนพ.ย.นี้ และจะมีการเปิดเผยข้อมุลความคืบหน้าของอิตาลีให้สาธารณชนได้ทราบอย่างเปิดเผย

นอกจากนี้ ที่ประชุม G-20 ยังได้ระบุชื่อของธนาคารพาณิชย์ 29 แห่งที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินโลกที่อาจจำเป็นจะต้องเพิ่มทุน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นธนาคารจากยุโรป 17 แห่ง เป็นธนาคารจากสหรัฐ 8 แห่งซึ่งรวมถึง โกลด์แมนแซคส์ เจพีมอร์แกน และซิตี้กรุ๊ป ส่วนอีก 4 แห่งเป็นธนาคารจากเอเชีย ซึ่งรวมถึงแบงก์ ออฟ ไชน่า

สำหรับวาระการประชุม G-20 ในครั้งนี้ ที่ประชุมมุ่งเน้นไปที่การหาทางทำข้อตกลงต่างๆเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า วิกฤติหนี้ยูโรโซนจะไม่ลุกลามออกไป รวมทั้งหารือกันเกี่ยวกับทางเลือกต่างๆในการปรับเพิ่มทุนทรัพย์ของไอเอ็มเอฟ และการกำหนดมาตรการคุ้มครองทางการเงินเพื่อปกป้องประเทศที่มีเศรษฐกิจอ่อนแอในยูโรโซน เช่น อิตาลีและสเปน โดยปกป้องประเทศกลุ่มนี้จากผลกระทบของการผิดนัดชำระหนี้ของกรีซที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ที่ประชุม G-20 ยังให้ความสำคัญกับท่าทีของอิตาลี เนื่องจากเป็นที่หวั่นเกรงกันว่า อิตาลีอาจจะประสบปัญหาด้านการคลังเหมือนกับกรีซและจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากต่างประเทศ โดยอิตาลีเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ในยูโรโซน และเป็นตลาดพันธบัตรรัฐบาลที่ใหญ่ที่สุดในยูโรโซน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ