(เพิ่มเติม) รัฐทุ่มงบหมื่นลบ. ชดเชยบ้านน้ำท่วมหลังละ 5 พัน สั่งมท.เร่งขึ้นทะเบียน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 7, 2011 14:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและความเป็นอยู่ของประชาชน ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน มีมติอนุมัติงบประมาณจำนวน 11,000 ล้านบาท เพื่อเยียวยาฉุกเฉินสำหรับบ้านเรือนของประชาชนจำนวน 2 ล้านกว่าหลังคาเรือนที่ถูกน้ำท่วมในอัตราหลังละ 5,000 บาท

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย เร่งดำเนินการขึ้นทะเบียนผู้ประสบภัยและให้ดำเนินการจ่ายเงินออกไปช่วยเหลือภายใน 2 สัปดาห์

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติอนุมัติงบประมาณราว 100 ล้านบาท เพื่อใช้ในการฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมาตรการทั้ง 2 ชุดนี้ นายกิตติรัตน์ เตรียมจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาอนุมัติในวันพรุ่งนี้(8 พ.ย.)

ด้านนายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบหลักการในกรอบแผนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ด้านเศรษฐกิจ) ระยะ 1 ปี และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) นำไปบูรณาการกับข้อเสนอของคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (ด้านโครงสร้างพื้นฐาน) และคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (ด้านสังคม) แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบกรอบแผนการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วง 0-1 ปีต่อไป

พร้อมกันนี้ ยังเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองแผนงาน/โครงการ และงบประมาณ ในการช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และความเป็นอยู่ของประชาชน ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานอนุกรรมการฯ เพื่อพิจารณากลั่นกรองแผนงาน/โครงการ และงบประมาณในการช่วยเหลือฯ และนำเสนอคณะกรรมการฯ ต่อไป

ทั้งนี้ กรอบแผนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยระยะ 1 ปี มีหลักการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ซึ่งมีผลต่อการประกอบอาชีพและประกอบธุรกิจ โดยที่การช่วยเหลืออยู่บนหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือของภาครัฐตามอำนาจหน้าที่ กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว โปร่งใสและอยู่ในกรอบวินัยทางการคลังของรัฐบาล

โดยมีเป้าหมายในช่วง 1 ปีหลังน้ำลด ในการให้ความช่วยเหลือครอบคลุมผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยตั้งแต่เดือนก.ค.54 เป็นต้นไป และดำเนินการในช่วงเดือนต.ค.54-ก.ย.55 รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือในแต่ละภาคส่วนดำเนินการได้ทันทีภายหลังน้ำลด เพื่อให้ผู้ประสบภัยทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจสามารถกลับมาใช้ชีวิตหรือประกอบธุรกิจอย่างปกติได้อย่างรวดเร็วที่สุด

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า สำหรับแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยระยะ 1 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 25 ต.ค.54 ด้านเศรษฐกิจ แบ่งกลุ่มเป้าหมาย 6 กลุ่ม คือ 1.ประชาชนทั่วไป ให้ความช่วยเหลือด้านการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและทรัพย์สินที่เสียหาย ด้านการเงิน ด้านภาษี และลดค่าค่าครองชีพ 2.เกษตรกร ให้ความช่วยเหลือด้านการฟื้นฟูเกษตรกร และด้านการเงิน 3.แรงงาน ให้ความช่วยเหลือด้านการหางาน การฝึกอบรม และด้านการเงิน

4.ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการ ด้านการเงิน และด้านภาษี 5.ผู้ประกอบการรายใหญ่ ให้ความช่วยเหลือด้านการจัดหาวัตถุดิบเครื่องจักร และบุคลากร การสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน ด้านการเงิน และด้านภาษี และ 6.มาตรการอื่น ๆ ที่มีแนวทางการให้ความช่วยเหลือด้านการประชาสัมพันธ์ การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยว

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมรับทราบมาตรการบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัยและฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรม ที่ประกอบด้วย 1. มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ 2. มาตรการช่วยเหลือของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 3. มาตรการช่วยเหลือของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ

และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรมที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัย รับไปพิจารณารายละเอียดข้อเสนอมาตรการช่วยเหลือของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) และในส่วนของมาตรการช่วยเหลือของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จึงให้กระทรวงอุตสาหกรรมนำเสนอคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณาในรายละเอียดตามขั้นตอนต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติในหลักการการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 54 งบกลาง ในรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (กรณีอุทกภัย) ครัวเรือนละ 5,000 บาท (เพิ่มเติมครั้งที่ 3) จำนวน 11,461,010,000 บาท ตามข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทย โดยใช้หลักเกณฑ์พิจารณาตามเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 6 ก.ย.54 และมอบหมายให้สำนักงบประมาณพิจารณาในรายละเอียดของงบประมาณตามกรอบวงเงินที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ