อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลอิตาลีพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดระดับใหม่เมื่อวานนี้ ส่งผลให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่า อิตาลีอาจจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อใช้ชำระหนี้ที่มีมูลค่ามหาศาล และอาจสร้างแรงกดดันให้นายกรัฐมนตรีซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี ประกาศลาออก
ชะตากรรมของนายแบร์ลุสโคนีทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของอิตาลีผันผวนมากยิ่งขึ้น โดยตลาดหุ้นอิตาลีดิ่งลงในช่วงเช้าวานนี้ ก่อนที่จะดีดตัวขึ้นในเวลาต่อมา อันเนื่องมาจากการคาดการณ์ที่ว่าการลาออกของนายแบร์ลุสโคนีจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจอิตาลี แต่จากนั้นไม่นานดัชนีตลาดหุ้นอิตาลีก็ร่วงลงอีก หลังงจากนายแบร์ลุสโคนีปฏิเสธที่จะลาออก
แหล่งข่าววงในของอิตาลีรายงานว่า นายแบร์ลุสโคนีได้หารือร่วมกับลูกๆของเขาที่บ้านพักของครอบครัวนอกเมืองมิลาน เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับอนาคตของตนเอง แต่หลังจากนั้นไม่นาน สำนักนายกรัฐมนตรีก็ออกแถลงการณ์ว่า นายกรัฐมนตรีแบร์ลุสโคนีไม่มีเจตนารมณ์ที่จะลาออกจากตำแหน่ง และได้ย้ำถึงคำมั่นสัญญาว่าเขาจะอยู่ในตำแหน่งจนครบเทอมในปี 2555
กิวลิอาโน เฟอร์รารา บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Il Foglio ของอิตาลี ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของแบร์ลุสโคนี กล่าวว่า แบร์ลุสโคนีใกล้จะลาออกจากตำแหน่ง และจากนั้นจะมีการเลือกตั้งตามมาในทันที
จาเวียร์ นอเรกา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของวาณิชธนกิจ Hildebrandt and Ferrar ให้สัมภาษณ์ว่า "เศรษฐกิจอิตาลีมีปฏิกริยาต่อความไม่แน่นอนมากกว่าปัจจัยอื่นๆ และอาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ ถือเป็นบทสรุปของความไม่แน่นอนก็ว่าได้"
นอกเหนือไปจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองแล้ว สิ่งที่ตลาดกังวลอีกเรื่องหนึ่งก็คือว่า อิตาลีอาจจะไม่สามารถจัดการกับหนี้สินมูลค่า 1.9 ล้านล้านยูโร ซึ่งมีสัดส่วนเท่ากับ 120% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)
ทั้งนี้ นอเรกากล่าวว่า เป็นที่ค่อนข้างแน่ชัดว่า สหภาพยุโรป (อียู) อาจจะไม่สามารถให้ความช่วยเหลือด้านการเงินกับอิตาลีได้เหมือนกับที่ให้กรีซ ซึ่งหมายความว่าอิตาลีอาจจะต้องถูกบีบให้ขอความช่วยเหลือจากแหล่งอื่นๆ มิฉะนั้นกรีซอาจต้องเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสกุลเงินยูโร
บทสัมภาษณ์โดย เอริค เจ ลีแมน จากสำนักข่าวซินหัว