นายวีรพงษ์ รามางกูร ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.)ยอมรับว่า สถานการณ์อุทกภัยในปีนี้ถือว่าร้ายแรงที่สุดและรุนแรงกว่าสถานการณ์อุทกภัยปี 2485 สร้างผลกระทบให้ประชาชนมากมาย ดังนั้น สิ่งเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องทำคือกอบกู้สถานการณ์และเยียวยาฟื้นฟูประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพราะน้ำท่วมครั้งนี้ส่งผลให้พื้นที่ 1 ใน 3 ที่เป็นเขตเศรษฐกิจของประเทศได้รับความเสียหายด้วย โดยเฉพาะพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรม เช่น โตโยต้า ฮอนด้า จนต้องชะลอการผลิตรถยนต์ทั่วโลก
สำหรับ กยอ.มีหน้าที่คือเยียวยา และสร้างอนาคตใหม่ที่ดี สร้างความมั่นใจแก่ผู้ประกอบการว่าหากปีหน้าหากเกิดฝนตกมากอีกก็จะไม่เกิดเหตุการณ์อุทกภัยเหมือนกับปีนี้อีก หากสร้างความมั่นใจได้ จะทำให้บริษัทประกันภัยทั่วโลกยินดีรับทำประกันภัยให้แก่บริษัทหรือโรงงานที่ถูกน้ำท่วมก็ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง
นอกจากนี้จะเดินทางไปพูดคุยกับนักลงทุนญี่ปุ่น เพื่อชี้แจงถึงเป้าหมายใน 1 ปี ถึงแนวทางการกอบกู้ ฟื้นฟู พร้อมยืนยันว่าหากปีหน้ามีฝนตกจะไม่เกิดเรื่องอย่างนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน
นายวีรพงษ์ กล่าวต่อว่า จะมีการประสานงานกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ดำเนินการด้านวิศวกรรมน้ำ ด้านการชลประทาน โดยระบุว่าใน 1 ปีหลังจากนี้จะต้องไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก และ อีก 5-6 ปีนับจากนี้จะต้องมีโครงการต่างๆที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จะต้องเป็นการลงทุนที่ได้ประโยชน์สูงสุด มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ขณะเดียวกันจะต้องรักษาวินัยการเงินการคลังด้วย
"เป็นภารกิจที่ยากมาก แต่ที่รับเพราะถือเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน" นายวีรพงษ์ กล่าว
นายวีรพงษ์ กล่าวถึงการดำเนินการในระยะกอบกู้ว่า จากนี้ไปจะต้องมีการกอบกู้และเยียวยาผู้ประกอบการ ให้ความั่นใจแก่นักลงทุนว่าปีหน้าจะไม่เกิดสถานการณ์แบบนี้อีก และระยะยาวจะมีการวางระบบของประเทศใหม่ ว่าควรจะตามธรรมชาติหรือขวางธรรมชาติ แต่ส่วนตัวเห็นว่าควรจะให้เป็นไปตามธรรมชาติ
ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่ง ต้องช่วยกอบกู้สถานการณ์ ซึ่งในปีแรกต้องช่วยกันทุกด้าน ทุกฝ่าย