นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.วันนี้ได้อนุมัติให้ธนาคารออมสินจัดวงเงินสินเชื่อจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำไม่ให้เกิดน้ำท่วมในปี 55 อีก โดยคิดดอกเบี้ย 0.01% ระยะเวลาชำระคืน 7 ปี โดยรัฐบาลจ่ายเงินชดเชยดอกเบี้ยให้ ธนาคารออมสินในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี +1%
"วงเงินกู้ 1.5 หมื่นล้านบาท ต้องการให้นำไปใช้สร้างคันกั้นน้ำ เพราะถ้าไม่มีคันกั้นน้ำก็จะประกันไม่ได้ ดังนั้นคันกั้นน้ำต้องเกิดโดยเร็ว และเป็นมาตรฐานเพื่อให้บริษัทประกันสบายใจ...ต้องกำหนดให้มีการวางท่อข้างล่าง เพื่อให้มีน้ำลอด ดังนั้นการลงทุนสร้างคันกั้นน้ำเป็นสิ่งสำคัญอันดับ 1 จึงจะไม่ให้นำเงินนี้ไปใช้อย่างอื่น" นายธีระชัย กล่าว
และจากการหารือร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐในวันนี้ ได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินมีการติดตามการบริหารสภาพคล่องอย่างใกล้ชิด เนื่องจากธนาคารออมสินจะต้องเป็นหน่วยงานหลักในการจ่ายเงินชดเชยแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ครอบครัวละ 5,000 บาท ซึ่งขณะนี้ต้องมีการจ่ายเงินเพิ่มให้ผู้ประสบภัยในพื้นที่กทม. อีกทั้ง ธนาคารออมสินจะต้องมีการจัดสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ (Soft loan) 2 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปฝากให้ธนาคารพาณิชย์นำไปปล่อยสินเชื่อต่อแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
สำหรับการจัดสินเชื่อเพื่อให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)ค้ำประกันสินเชื่อ 30%โดยมีวงเงินสินเชื่อรวม 1.2 แสนล้านบาท รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายการค้ำประกัน ซึ่งเดิมมีข้อตกลงกับสมาคมธนาคารไทยที่จะให้ธนาคารพาณิชย์คิดดอกเบี้ย 3% คงที่ 3% หลังจากนั้นปรับเป็นดอกเบี้ยอัตราตลาด ซึ่งต้องการขอความร่วมมือให้ธนาคารพาณิชย์สนับสนุนโครงการดังกล่าว เนื่องจากจะเป็นผลดีต่อธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อได้และลูกค้ามีสภาพคล่องดูแลธุรกิจ
"มีข้อกังวลว่าธนาคารพาณิชย์จะสนใจเข้าโครงการหรือไม่ เพราะดอกเบี้ย 3 ปีแรกต่ำกว่าทั่วไป แต่ บสย.เข้าค้ำประกัน 30% น่าจะช่วยรองรับความเสี่ยงของลูกค้ารายย่อยได้ ก็อยากให้ธนาคารพาณิชย์มองเห็นกระบวนการแก้ปัญหา เพราะน้ำท่วมกระทบลูกค้า และหากไม่ทำอะไรก็จะเกิดเป็น NPL จึงอยากเชิญชวนธนาคารพาณิชย์ร่วมปล่อยกู้" นายธีระชัย กล่าว
นอกจากนี้พบว่า มีสถาบันการเงินของรัฐหลายแห่ง มีเงินทุนไม่เพียงพอและต้องมีการเพิ่มทุน ซึ่งกระทรวงการคลังพร้อมเพิ่มทุนให้ แต่ต้องการให้สถาบันการเงินของรัฐ มีการเร่งจัดทำงบการเงินให้เป็นไปตามมาตรฐานบัญชีสากลโดยเร็ว เพื่อที่กระทรวงการคลังจะได้รับรู้ฐานะการเงินที่แท้จริงก่อนพิจารณาเพิ่มทุนให้
พร้อมกันนี้ต้องการให้สถาบันการเงินของรัฐมีการประชาสัมพันธ์พร้อมๆกันเกี่ยวกับ Package มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบภัยน้ำท่วม
"และขณะนี้ยังได้มีการพูดถึงการเตรียมการรับมือในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีการเตรียมการให้ความช่วยเหลือ จัดเก็บไว้ในพื้นที่ 3 จังหวัดแล้ว และจะมีการประสานงานหากเกิดน้ำท่วมจะได้เข้าช่วยเหลือประชาชนได้ทันที ซึ่งภาคใต้เป็นพื้นที่ลาดเอียง ทำให้น้ำท่วมอาจไม่ขังอยู่นาน การระบายน้ำน่าจะหมดไม่เกิน 1 สัปดาห์