(เพิ่มเติม) นายกฯเชื่องบประมาณ-ปัจจัยหนุนดัน GDP ไทยปี 55 โต 4.5-5.5%เงินเฟ้อ 3-4%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 9, 2011 11:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรัฐมนตรี แถลงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555 ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเช้าวันนี้ โดยระบุว่า รัฐบาลได้ปรับปรุงการจัดทำงบประมาณเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งในขณะนี้มีปัจจัยเข้ามากระทบหลายด้าน โดยเฉพาะเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่น และภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 54 ต่ำกว่าสมมติฐานในการจัดทำงบประมาณเบื้องต้นที่ 3.5-4.0% ซึ่งได้รับปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวจากภัยธรรมชาติของประเทศญี่ปุ่น การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของตลาดอาเซียน และความมั่นใจของนักลงทุนต่อสถานการณ์ทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้ง โดยมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.6-4.0%

อย่างไรก็ตาม จากมาตรการฟื้นฟูประเทศภายหลังน้ำท่วมคลี่คลายลง รวมถึงการดำเนินนโยบายรัฐบาลตามที่ได้แถลงต่อรัฐสภา และปัจจัยสนับสนุนต่างๆ เช่น การเคลื่อนย้ายเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย ความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์หนี้ในสหภาพยุโรป และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น โดยคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 55 ยังสามารถขยายตัวได้ในระดับ 4.5-5.5% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในกรอบ 3.0-4.0%

โดยรัฐบาลประมาณการจะสามารถจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 55 ทั้งสิ้น 2,066,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.1% จากปีงบประมาณ 54 และหลังจากจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วคงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาลจำนวน 1.98 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 16.8% ของ GDP ขณะที่มีวงเงินงบประมาณรายจ่ายจำนวน 2.38 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.7% จากปีงบประมาณ 54 โดยเป็นการขาดดุลงบประมาณจำนวน 4 แสนล้านบาท หรือ คิดเป็น 3.4% ของ GDP

"การกำหนดวงเงินงบประมาณขาดดุลดังกล่าว เป็นการแสดงความตั้งใจของรัฐบาลในการแก้ไจปัญหาเร่งด่วนของประเทศ รวมทั้งยังคงสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง" นายกรัฐมนตรี กล่าว

สำหรับการบริหารจัดการรายจ่ายของรัฐบาลนั้นให้ความสำคัญต่อการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 54 ควบคู่ไปกับการเร่งรัดสร้างรายได้ให้ประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม รวมทั้งการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศ โดยน้อมนำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการพัฒนาและจัดสรรทรัพยากรของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด

โดยแนวทางการจัดทำงบประมาณปี 55 ได้กำหนดไว้ 4 ประการ คือ 1.เพิ่มสัดส่วนรายจ่ายการลงทุนเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและการผลิต 2.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงาน 3.ส่งเสริมการสร้างศักยภาพทางการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการถ่ายโอนภารกิจการจัดบริการสาธารณะและลดความเหลื่อมล้ำทางการคลังระหว่างท้องถิ่น และ 4. ดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังและความจำเป็นในการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ

ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 21 ต.ค.54 มีจำนวน 321,401 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมทั้งบริหารรายรับ-รายจ่ายให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะเมื่อวันที่ 31 ส.ค.54 อยู่ที่ 40.22% ของ GDP


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ