ย้อนไปเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ ถ้าพูดถึง อิตาลี คนส่วนใหญ่คงนึกถึงดินแดนที่เป็นเลิศในทุกๆ ด้าน ทั้งในด้านแฟชั่นที่สาวๆกว่าค่อนโลกต่างก็ฝันอยากไปเยือนงานมิลาน แฟชั่น วีค ที่จัดขึ้นทุกปี รวมทั้งร้านรวงของบูติคแฟชั่นแบรนด์เนมชื่อดังอย่างกุชชี่ หรือ ซัลวาทอเร แฟร์รากาโม ...ในด้านอาหาร อิตาลีไม่เคยเป็นรองชาติไหนในโลก คนมากมายยังคงหลงไหลรสชาติอาหารยอดนิยมอย่างพิซซ่า ลาซานญ่า สปาเกตตี้ ฯลฯ ที่ล้วนแล้วแต่มีถิ่นกำเนิดมาจากอิตาลี ...ในด้านกีฬาไม่ต้องพูดถึง อิตาลีพิสูจน์ตัวเองให้เป็นที่ประจักษ์มาแล้วด้วยการนั่งบัลลังค์แชมป์ฟุตบอลโลก 4 สมัย (ปี 1934, 1938, 1982 และ 2006) ไม่เพียงเท่านั้น อิตาลียังได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งอารยธรรมเก่าแก่ อันเป็นต้นกำเนิดของสถาปัตยกรรมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก นั่นคือ โคลอสเซียม สนามกีฬาแห่งอาณาจักรโรมันอันลือชื่อ และ หอเอนปิซา สถาปัตยกรรมมหัศจรรย์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ที่อิตาลีมีเหนือชนเผ่าซาราเซนในสงครามทางทะเลที่เมืองปาแลร์โม
นอกจากนี้ สถานะทางเศรษฐกิจของอิตาลียังได้รับการยกย่องว่ายิ่งใหญ่เป็นอันดับ 3 ของยูโรโซน โดยอิตาลีเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาเกษตรกรรมมาเป็นการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ตั้งแต่อุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีแบรนด์หรูอย่าง ลัมโบกินี ที่ใครก็อยากครอบครอง ไปจนถึงอุตสาหกรรมเครื่องจักร เครื่องไฟฟ้า และเภสัชภัณฑ์ และหลายคนอาจไม่ทราบว่าอิตาลีคือโมเดลของไทยในด้านอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ด้วย ที่สำคัญ...อิตาลีสามารถต้านทานวิกฤตการเงินโลกในปี 2006 มาได้อย่างราบรื่น นั่นเพราะทีมเศรษฐกิจอันแข็งแกร่งของอิตาลีสามารถคุมบังเหียนประเทศได้อย่างชนิด "เอาอยู่"
แต่อิตาลีในวันนี้ ช่างต่างกับอิตาลีในวันวานอย่างสิ้นเชิง เมื่อนายซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี ผู้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมาถึง 3 สมัยเริ่มตระหนักว่าเศรษฐกิจของดินแดนมักกะโรนีแห่งนี้เริ่ม "เอาไม่อยู่" ขณะที่สายตาทุกคู่ของนักลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลกเริ่มย้ายวิกจากการดู "หนังเรื่องกรีซ" มาเป็น "หนังเรื่องอิตาลี" และที่สำคัญหนังเรื่องนี้ไม่ได้ชื่อ "Life Is Beautiful" ซึ่งคว้ารางวัลหนังต่างประเทศยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ที่ทำให้อิตาลีเคยภาคภูมิใจ นั่นเป็นเพราะนาวาเศรษฐกิจของอิตาลี "ชน" เข้ากับภูเขาน้ำแข็งที่ชื่อวิกฤตหนี้สาธารณะที่มีต้นตอมาจากผู้ร้ายตัวจริงที่ชื่อ "กรีซ"
กรีซพาตัวเองตัวสู่การเป็นเหยื่อของหนี้สาธารณะ เนื่องจากรัฐบาลถลุงงบประมาณมหาศาลในการปรับโครงสร้างทางสังคมครั้งใหญ่ รวมถึงการให้เงินสวัสดิการสังคมกับประชาชนหัวเอียงซ้าย การทุ่มเงินช่วยเหลือกรรมกรและเกษตรกรที่เป็นฐานเสียงหลักของรัฐบาล และใช้เงินไปกับความหน้าใหญ่ในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2004 ปัญหาหนี้ของกรีซเริ่มส่อเค้าลางว่าจะลุกลามออกไปเมื่อกรีซหันมาใช้เงินสกุลยูโรในเดือนม.ค. 2001 ซึ่งทำให้รัฐบาลกรีซต้องจ่ายดอกเบี้ยการกู้ยืมสูงขึ้นตามค่าเงินยูโร ชื่อเสียงของกรีซหม่นหมองมากขึ้นเมื่อมีข่าวในช่วงต้นปี 2009 ว่า รัฐบาลกรีซปกปิดข้อมูลทางเศรษฐกิจ การกระทำของกรีซที่ถือว่าเป็นคนในครอบครัวของยูโรโซนแล้วนั้น ทำให้สหภาพยุโรป (อียู) ถูกตำหนิอย่างมาก และเมื่อความจริงปรากฏออกมาว่ารัฐบาลกรีซมีหนี้สูงและใกล้ครบกำหนดชำระหนี้ ผู้ที่เดือดร้อนที่สุดก็คงหนีไม่พ้นสถาบันการเงินและรัฐบาลของประเทศอื่นๆในยูโรโซนที่เข้าไปถือครองพันธบัตรของกรีซอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ อิตาลี
ผู้สันทัดกรณีของสหรัฐมองว่า นอกเหนือจากการถูกกระทบจากวิกฤตหนี้กรีซแล้ว เศรษฐกิจอิตาลีย่ำแย่ลงเพราะทีมเศรษฐกิจที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมากู้ชาตินั้นยังคงอยู่ภายใต้โครงสร้างเก่าของนายแบร์ลุสโคนี นอกจากนี้ ผลพวงของการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกก็ทำให้เศรษฐกิจอิตาลีเองขยายตัวในระดับต่ำเป็นเวลานาน ประกอบกับรัฐบาลอิตาลีในปีหลังๆก็ไม่มีความยืดหยุ่นทั้งทางด้านการคลังและการเงิน หรือแม้แต่การใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อกระตุ้นหรือส่งเสริมให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับสูงได้
สถานการณ์ของอิตาลีแย่ลงเรื่อยๆ และเริ่มหนักหนาสาหัสเมื่อ 3 สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ คือมูดีส์ ฟิทช์ และเอสแอนด์พี รุมลดอันดับเครดิตอิตาลีในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา การที่ประเทศอิตาลีถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือส่งผลให้ประเทศในกลุ่ม PIGS ถูกลดความน่าเชื่อถือลงตามไปด้วย และยังก่อให้เกิดความกังวลที่ว่าปัญหาในอิตาลีจะลุกลามไปยังฝรั่งเศสและเยอรมนี โดยเฉพาะฝรั่งเศสที่ถูกจับตามากเป็นพิเศษ เนื่องจากมีการลงทุนในสินทรัพย์ของประเทศในกลุ่ม PIGS สูงมาก
ปัญหาจานร้อนอีกด้านหนึ่งของอิตาลีคือ การเมือง เพราะรัฐบาลผสมของนายแบร์ลุสโคนี แตกแยกออกเป็นฝักฝ่าย สภาพของรัฐบาลที่มีคะแนนเสียงข้างมากในสภาอยู่แค่บัวปริ่มน้ำ ทำให้ยากที่จะเข็นมาตรการที่จำเป็นใดๆออกมาได้ โดยเฉพาะมาตรการรัดเข็มขัด นอกจากนี้ นายแบร์ลุสโคนีเองก็อยู่ในสภาพคะแนนนิยมตกต่ำและขาดความน่าเชื่อถืออันเนื่องมาจากเรื่องอื้อฉาวส่วนตัว รวมถึงการเป็นจำเลยในคดีมากมาย ทั้งข้อหาสินบน ฉ้อโกงภาษี และใช้อำนาจในทางมิชอบ
แม้นายแบร์ลุสโคนีเคยรู้สึกกังวลเมื่อมีสารจากขาใหญ่อย่างธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่ส่งมาถึงอิตาลีว่า ถึงเวลาแล้วที่อิตาลี "จะต้อง" เร่งปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป รวมถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การเปิดทางให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการบริการต่างๆ แทนหน่วยงานของรัฐ และลดจำนวนเจ้าหน้าที่ของรัฐลงให้เหลือเฉพาะที่จำเป็น ...แต่แบร์ลุสโคนีก็ทำได้แค่รับปาก และไม่ได้ดำเนินการเป็นชิ้นเป็นอัน เนื่องจากดาบอาญาสิทธิ์ในมือของเขาเริ่มเสื่อมมนต์ขลัง ประกอบกับพรรคการเมือง หรือแม้แต่ลูกพรรคของตัวเองก็เริ่มแปรพักตร์ ทำให้สถานการณ์การเมืองอิตาลีผันผวนอย่างหนักและสร้างความวิตกกังวลให้กับตลาดการเงินทั่วโลก และที่หนักหนาสาหัสก็เมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีอายุ 10 ปีของอิตาลีพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 6.67% ในวันจันทร์ ซึ่งเป็นระดับที่ถือว่าเป็นอันตรายและสะท้อนว่าอิตาลีจะต้องแบกรับภาระหนี้สาธารณะมูลค่ามหาศาล
การพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรได้เพิ่มความชอบธรรมให้กับพรรคฝ่ายค้านและพรรคการเมืองต่างๆของอิตาลีในการบีบให้นายแบร์ลุสโคนีลาออก แรกเริ่มนั้นนายแบร์ลุสโคนีหลีกเลี่ยงการออกสื่อและหลบไปอยู่บ้านพักนอกเมืองมิลาน เพื่อปรึกษากับครอบครัวถึงอนาคตทางการเมืองของตนเอง ก่อนที่จะบอกให้สำนักนายกรัฐมนตรีก็ออกแถลงการณ์ว่า นายกรัฐมนตรีแบร์ลุสโคนีไม่มีเจตนารมณ์ที่จะลาออกจากตำแหน่ง และได้ย้ำถึงคำมั่นสัญญาว่าเขาจะอยู่ในตำแหน่งจนครบเทอมในปี 2012
การประกาศเจตนารมณ์ว่าจะนั่งเก้าอี้นายกให้ครบเทอมของแบร์ลุสโคนีส่งผลให้ตลาดหุ้นยุโรปร่วงลงทันที เนื่องจากนักลงทุนมองว่านายแบร์ลุสโคนีเป็นอุปสรรคต่อการผลักดันมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจที่จำเป็นต่อการพยุงอิตาลีให้รอดพ้นจากวิกฤตหนี้
กระทั่งเมื่อช่วงค่ำวานนี้ (8 พ.ย.) นายแบร์ลุสโคนีก็ไม่อาจฝืนวิกฤตศรัทธาของชาวอิตาลีได้ เขาจึงตัดสินใจประกาศลาออกจากตำแหน่งหลังรัฐสภาอิตาลีมีมติผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปงบประมาณ ข่าวดังกล่าวทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลก ทั้งตลาดหุ้นสหรัฐ ยุโรป และเอเชีย ต่างทะยานขึ้นขานรับกันถ้วนหน้า
... สำหรับผู้นำคนหนึ่งที่บริหารประเทศมานานถึง 3 สมัยอย่างนายแบร์ลุสโคนี อาจรู้สึกเศร้าใจว่าการลาออกของตนเองได้รับการตอบรับจากคนค่อนโลก แต่สำหรับชาวอิตาลีแล้ว พวกเขามองว่า แบร์ลุสโคนี สิงห์เฒ่าวัย 76 ปีผู้นี้เปรียบเสมือนกระจกมัวๆในหน้าประวัติศาสตร์ของชาติเท่านั้น และที่ชาวอิตาลีไม่พอใจอย่างมากคือเศรษฐกิจของประเทศที่เคยเจริญรุ่งเรืองจนเป็นที่ยอมรับในยูโรโซน กลับต้องตกต่ำลงแทบจะทุกภาคส่วน โดยผลสำรวจความคิดเห็นของชาวอิตาลีซึ่งจัดทำโดยหนังสือพิมพ์ Corriere della Sera ระบุว่า 50% ของชาวอิตาลีที่ร่วมตอบแบบสอบถามมองว่า อิตาลีจะกลายเป็นประเทศที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่ต่างจากกรีซ ด้วยตัวเลขหนี้สาธารณะมูลค่ามหาศาลถึง 120% ของจีดีพี
อาจมีใครบางคนมองว่า สภาพของอิตาลีในยามนี้ไม่ต่างจากเรือขนาดใหญ่ที่ชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็งก้อนมหึมา รออยู่แค่ว่าจะประคองเรือและอพยพผู้คนได้มากน้อยแค่ไหนก่อนที่จะจมลงสู่ก้นมหาสมุทร... แต่คอลัมน์ In Focus ก็มีความหวังใจอยู่ลึกๆว่า อิตาลียุคใหม่ภายใต้การนำของหัวหน้ารัฐบาลที่จะมารับไม้ต่อจากแบร์ลุสโคนี จะพลิกผันสถานการณ์ที่แล้วร้ายให้กลับกลายเป็นดี และซ่อมแซมเรือลำนี้ให้กลับมาโลดแล่นบนพื้นผิวมหาสมุทรได้อย่างสง่างามอีกครั้ง และเราขอจบลงด้วยคำอวยพรเป็นภาษาอิตาลีว่า “In bocca al lupo!”