ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: วิตกหนี้ยุโรปลามอิตาลี ฉุดยูโรดิ่งหนักเทียบดอลล์

ข่าวต่างประเทศ Thursday November 10, 2011 06:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินยูโรร่วงลงอย่างหนักเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (9 พ.ย.) เนื่องจากความกังวลที่ว่าอิตาลีอาจจะต้องขอรับความช่วยเหลือด้านการเงินจากภายนอก หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของรัฐบาลอิตาลีพุ่งขึ้นเหนือระดับ 7% ซึ่งเป็นระดับที่บ่งชี้ถึงภาระหนี้สินที่อิตาลีแบกรับอยู่เป็นจำนวนมาก

ค่าเงินยูโรดิ่งลง 2.10% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.3547 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันอังคารที่ 1.3837 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินปอนด์ร่วงลง 1.03% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.5926 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.6092 ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น 0.18% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 77.810 เยน จากระดับ 77.670 เยน และพุ่งขึ้น 1.59% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.9088 ฟรังค์ จากระดับ 0.8946 ฟรังค์

ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียดิ่งลง 2.34% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.0151 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.0394 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ร่วงลง 2.09% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.7817 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7984 ดอลลาร์สหรัฐ

สกุลเงินยูโรร่วงลงหนักสุดในรอบ 15 เดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตหนี้สาธารณะในอิตาลี หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลอิตาลีพุ่งขึ้นแตะระดับ 7.502% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดครั้งใหม่นับตั้งแต่เริ่มใช้สกุลเงินยูโรในปี 2542

การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอิตาลีทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่กังวลว่า อิตาลีอาจจะต้องขอรับความช่วยเหลือด้านการเงินจากภายนอก เพราะในช่วงไอร์แลนด์และโปรตุเกสต้องขอรับความช่วยเหลือด้านการเงินจากสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) นั้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไอร์แลนด์และโปรตุเกสพุ่งขึ้นเหนือระดับ 7% เช่นกัน

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เจ้าหน้าที่หลายคนของอียูกล่าวว่า อียูยังไม่มีแผนที่จะให้ความช่วยเหลือด้านการเงินต่ออิตาลี ซึ่งข่าวดังกล่าวยิ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่าอิตาลีอาจจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ได้ แม้มีรายงานในวันเดียวกันว่า ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เริ่มเข้าซื้อพันธบัตรของรัฐบาลอิตาลีเพื่อช่วยอิตาลีให้รอดพ้นจากวิกฤตในครั้งนี้ก็ตาม

การที่เจ้าหน้าที่อียูส่งสัญญาณว่าอาจจะไม่ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินกับอิตาลียิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับสกุลเงินยูโร ขณะที่นักวิเคราะห์หลายคนคาดว่า ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงเช่นนี้อาจทำให้องค์กรอื่นๆที่นอกเหนือจากอียู ปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลืออิตาลีเช่นกัน

ในการประชุมผู้นำประเทศอุตสาหกรรมและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในกลุ่ม G-20 ที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 4 พ.ย. ที่ผ่านมานั้น อิตาลีตกลงที่จะเปิดทางให้ไอเอ็มเอฟสามารถติดตามความคืบหน้าด้านการปฏิรูปของอิตาลีเป็นรายไตรมาส ขณะที่ไอเอ็มเอฟระบุว่า ไอเอ็มเอฟจะส่งทีมงานเข้าไปยังอิตาลีภายในปลายเดือนพ.ย.นี้ และจะมีการเปิดเผยข้อมุลความคืบหน้าของอิตาลีให้สาธารณชนได้ทราบอย่างเปิดเผย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ