Analysis: อิตาลีจะต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินหรือไม่?

ข่าวต่างประเทศ Thursday November 10, 2011 18:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทั่วโลกต่างวิตกกังวลว่าอิตาลีอาจจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากนานาประเทศ หลังจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของรัฐบาลอิตาลีพุ่งสู่ระดับอันตรายเมื่อวันพุธที่ผ่านมา

ศูนย์การเงินระหว่างประเทศแห่งเกาหลี (KCIF) ระบุว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลอิตาลีพุ่งขึ้น 0.49% สู่ระดับ 7.21% ขณะที่สามประเทศซึ่งขอความช่วยเหลือทางการเงินไปก่อนหน้านี้ อันได้แก่ กรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส ถูกกดดันให้ขอความช่วยเหลือทางการเงินเมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งถึงระดับอันตรายที่ 7%

โดยกรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส ต้องขอความช่วยเหลือหลังอัตราผลตอบแทนพุ่งแตะระดับ 7% ไปแล้ว 17 วัน, 22 วัน และ 91 วันตามลำดับ

"อิตาลีคงต้องขอความช่วยเหลือจากนานาประเทศ ดูจากที่กรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส ต้องขอความช่วยเหลือภายใน 3 เดือนหลังจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งทะลุ 7%" นายคัง ฮยอน-กี นักยุทธศาสตร์จากโซโลมอน อินเวสเมนท์ แอนด์ ซีเคียวริตีส์ ในกรุงโซล กล่าวกับซินหัว

อย่างไรก็ตาม นายคังเชื่อว่าสถานการณ์ในอิตาลีไม่น่าจะทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายในตลาดการเงินทั่วโลกเหมือนกรณีกรีซ เนื่องจากอิตาลีน่าจะสามารถหลีกเลี่ยงวิกฤตได้ด้วยตนเอง โดยอาศัยภาคการผลิตและการค้าระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง

หนี้สินล้นพ้นตัว

ธนาคารกลางอิตาลีเปิดเผยว่า อิตาลีมีหนี้สินเพิ่มขึ้นเป็น 1.89 ล้านล้านยูโร (2.56 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งมากกว่าหนี้สินของกรีซ สเปน โปรตุเกส และไอร์แลนด์รวมกัน ขณะที่อัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพีพุ่งแตะ 118% ในปีที่แล้ว ซึ่งสูงสุดเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มยูโรโซนโดยเป็นรองแค่กรีซ

อิตาลีมีหนี้จำนวนมากที่ต้องรีไฟแนนซ์ในปีหน้า โดยหนี้ที่ครบกำหนดในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายนมีสัดส่วน 45% ของหนี้ทั้งหมดที่จะครบกำหนดในปี 2555 ทั้งนี้ อิตาลีสามารถรีไฟแนนซ์หนี้ 3.73 หมื่นล้านยูโรที่ครบกำหนดในปีนี้ แต่เศรษฐกิจอิตาลีต้องเจอปัญหาแน่นอนในปีหน้า หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภายนอก

"อิตาลีเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ในยูโรโซน โดยคิดเป็นสัดส่วน 17% ของจีดีพีรวมของภูมิภาค และเป็นตลาดพันธบัตรรัฐบาลที่มีขนาดใหญ่มาก ดังนั้นประเทศที่ถือพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีจะได้รับผลกระทบไปด้วย" นายลี ยัง-วอน นักยุทธศาสตร์จากเอชเอ็มซี อินเวสเมนท์ แอนด์ ซีเคียวริตีส์ ในกรุงโซล กล่าว

ใหญ่เกินกว่าจะช่วยเหลือได้

อิตาลีเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่ในภูมิภาค หลายฝ่ายจึงเชื่อว่าบรรดาผู้นำยุโรปจะต้องพยายามยื่นมือเข้าไปช่วยเหลืออิตาลี อย่างไรก็ตาม ยุโรปมีเงินทุนไม่พอที่จะให้ความช่วยเหลือประเทศเศรษฐกิจใหญ่ระดับนี้

"เศรษฐกิจอิตาลีใหญ่เกินกว่าจะยอมให้ล่มสลายได้ แต่กองทุนช่วยเหลือของยูโรก็ยังไม่เพียงพอ ดังนั้นบรรดาผู้นำยุโรปควรใช้มาตรการอื่นๆควบคู่ไปด้วย อย่างการพิมพ์ธนบัตรโดยธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) หรือการออกพันธบัตรยูโร (ยูโรบอนด์) แต่มาตรการดังกล่าวไม่สามารถทำได้ในอนาคตอันใกล้" นายลี อึน-แทค นักยุทธศาสตร์จาก Dongbu Securities ในกรุงโซล กล่าว

กองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF) มีวงเงิน 4.4 แสนล้านยูโร ซึ่งอิตาลีอาจได้รับเงินช่วยเหลือราว 1.6 แสนล้านยูโร หรือ 10% ของจีดีพี แต่เงินจำนวนดังกล่าวยังไม่เพียงพอ บรรดาผู้นำยุโรปจึงเห็นพ้องต้องกันว่าจะเพิ่มวงเงินของกองทุนเป็น 1 ล้านล้านยูโร แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ

วงจรอุบาทว์

บรรดานักสังเกตการณ์ตลาดต่างกังวลว่าตลาดการเงินโลกอาจเข้าสู่วงจรอุบาทว์เหมือนเมื่อคราวกรีซ โดยหลังจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลกรีซพุ่งทะลุ 7% ในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ผลตอบแทนพันธบัตรก็พุ่งแตะ 12% ภายในเดือนเดียว จากนั้นกรีซก็เผชิญปัญหาต่างๆอีกมากมาย อาทิ การถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ความแตกแยกทางการเมือง และการชุมนุมประท้วงของประชาชน

"ตลาดทวีความกังวลเกี่ยวกับวงจรอุบาทว์ที่เกิดจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งสูง ซึ่งอาจทำให้เกิดการปรับลดมูลค่าพันธบัตร หรือการทำ haircut ของรัฐบาลอิตาลี และอาจถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือเร็วยิ่งขึ้น อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับประเทศอื่น" นายลูกา เจลลิเนค นักยุทธศาสตร์จากเครดิต อะกริโคล กล่าว

นายเจลลิเนคคาดการณ์ว่า ตลาดจะยังมีแต่ความสงสัยและความกังขาจนกว่าจะมีการปฏิรูปมากพอ และจนกว่าอีซีบีและเยอรมนีจะตัดสินใจซื้อหนี้ในปริมาณที่มากกว่านี้ สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ