ที่ประชุมร่วม กฟย.-กศอ.อนุมัติมาตรการช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ประสบอุทกภัย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 11, 2011 15:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย(กฟย.) ร่วมกับคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และความเป็นอยู่ของประชาชน (กศอ.) ครั้งที่ 1/2554 โดยที่ประชุมเห็นชอบมาตรการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และความเป็นอยู่ของประชาชน ที่เสนอโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงมหาดไทย ซึ่งผ่านการเห็นชอบจาก กศอ.ไปก่อนหน้านี้แล้ว

ประกอบด้วย 1) โครงการภายใต้มาตรการบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัยและฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 4 โครงการ วงเงินรวม 112.84 ล้านบาท ได้แก่ (1) โครงการจัดตั้งศูนย์พักพิงอุตสาหกรรม (2) โครงการด้านการจัดการด้านความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และกากอุตสาหกรรมในสถานประกอบการอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัย (3) โครงการตรวจสอบคุณภาพน้ำ ดิน และสารปนเปื้อนของสารพิษอุตสาหกรรมในสถานประกอบการทั้งในและนอกนิคม และ (4) โครงการความช่วยเหลือในการระบายน้ำจากนิคมอุตสาหกรรม และ 2) การขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2554 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน(กรณีอุทกภัย) ครัวเรือนละ 5,000 บาท(เพิ่มเติมครั้งที่ 3) ของกระทรวงมหาดไทย วงเงินรวม 11,461.01 ล้านบาท และให้นำเรื่องดังกล่าวเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมเห็นชอบหลักการในการดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยครัวเรือนละ 5,000 บาท ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2554 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย ครัวเรือนละ 5,000 บาท ตามข้อมูลครัวเรือนผู้ประสบภัยเบื้องต้น ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 30 เขต ในกรอบครัวเรือน จำนวน 621,355 ครัวเรือน จำนวนเงิน 3,106,775,000 บาท โดยที่กรุงเทพมหานคร ต้องมีการตรวจสอบข้อมูล รับรองความถูกต้อง ตรวจสอบความซ้ำซ้อนของครัวเรือนผู้ประสบภัยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ครม. เห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 ก่อนการจ่ายเงินช่วยเหลือ โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรเงินงบประมาณตรงให้ธนาคารออมสิน เพื่อดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเขตกรุงเทพมหานคร และให้สามารถถัวจ่ายจำนวนครัวเรือนในเขตได้ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2554 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (กรณีอุทกภัย) ครัวเรือนละ 5,000 บาท ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

อีกทั้งที่ประชุมเห็นชอบมาตรการสินเชื่อเพื่อพัฒนาระบบป้องกันอุทกภัยของธนาคารออมสิน ที่ให้แก่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม/เขตอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรม ประกอบด้วย สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี ระยะเวลา 7 ปี รวมวงเงิน 15,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลรับภาระส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 4,431 ล้านบาท และเห็นควรให้ธนาคารออมสินแยกบัญชีการดำเนินการดังกล่าวออกมาอยู่ในบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account: PSA) และให้เพิ่มเติมข้อกำหนดในการอนุมัติสินเชื่อ โดยให้โครงการลงทุนในระบบและโครงสร้างพื้นฐานของระบบป้องกันอุทกภัยที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่รัฐจะกำหนดขึ้น และให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบแผนงาน/โครงการและงบประมาณในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยด้านฟื้นฟูคุณภาพชีวิตที่ ครม.ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการแล้วเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2554 และสำนักงบประมาณได้พิจารณาในรายละเอียดแล้ว ประกอบด้วย 7 กระทรวง 2 ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง รวมวงเงิน 4,411,844,300 บาท แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะคือ ระยะที่ 1 วงเงิน 353,636,600 บาท ประกอบด้วย 5 กระทรวง/หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และระยะที่ 2 วงเงิน 3,924,907,700 บาท ประกอบด้วย 8 กระทรวง/หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป โดยเบิกจ่ายจากงบกลางปี 2555 จำนวน 4,146.4 ล้านบาท และงบประมาณปี 2554 จำนวน 265.46 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ