นายวิทย์ ประทักษ์ใจ ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เปิดเผยถึงสาเหตุที่ทำให้ราคายางพาราตกต่ำในขณะนี้ว่า เกิดจากสภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจยุโรปตกต่ำ เมื่อรวมกับปัญหาที่คั่งค้างมาจากการเกิดสึนามิที่ญี่ปุ่น ความผันผวนของตลาดยางล่วงหน้า หรือตลาด TOCOM ผนวกกับการเกิดปัญหาภายในของประเทศจีนผู้สั่งซื้อรายใหญ่ ซึ่งมีการเก็บสต็อกมากกว่า 2 แสนตัน ทำให้จีนชะลอการสั่งซื้อ ขณะเดียวกันปัญหาน้ำท่วมในไทยมีผลกระทบเชิงจิตวิทยาและกระทบต่อระบบอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยาง เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อราคายางพาราทั้งสิ้น
ทั้งนี้ นโยบายรัฐบาลต้องการรักษาระดับราคาให้เกษตรกรขายยางแผ่นดิบชั้น 3 ในราคา ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลา ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 95 บาท เพื่อทำให้ราคายางส่งออก FOB ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคาไม่ต่ำกว่า 105 บาท หรือ 3.5 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม เป็นนโยบายระยะสั้นในช่วง 2 ไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ถึงไตรมาสแรกของปี 2555
ส่วนในระยะยาวจะรักษาระดับราคายางไว้ที่ 4 เหรียญต่อกิโลกรัม เพื่อให้เกษตรกรขายยางได้ในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 120 บาท ตามที่ไทยได้เคยทำบันทึกความเข้าใจกับกลุ่มประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก หรือ ITRC อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฯ โดยจะรักษาระดับราคายางไม่ให้ต่ำกว่า 4 เหรียญ แต่ช่วงนี้จำเป็นต้องลดลงชั่วคราว คงไว้ที่ 3.5 เหรียญ หรือ 95 — 105 บาทต่อกิโลกรัมไปก่อน
ทั้งนี้ นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารสถาบันวิจัยยาง (สวย.) กรมวิชาการเกษตร สำนักงาน กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) กรมวิชาการเกษตร และภาคเอกชน จะเดินทางไปเจรจาและทำสัญญาซื้อขายยางที่ประเทศจีน ในสัปดาห์หน้า
สำหรับการรักษาระดับราคายางดังกล่าว ที่ประชุมส่วนงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับยางพารา จากสถาบันวิจัยยาง (สวย.) กรมวิชาการเกษตร สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) กำหนดมาตรการหลัก ประกอบด้วย รัฐบาลไทยจะเชิญผู้แทนสภาความร่วมมือด้านยางพาราระหว่างประเทศ(International Tripartite Rubber Council:ITRC)ประชุมในวันเสาร์นี้เพื่อพิจารณาปัญหาราคายาง
สำหรับมาตรการการรักษาระดับราคายาง เช่น การจำกัดโควตาการส่งออก การผลิต Supply เป็นต้น และ กำหนดให้รักษาระดับราคายางไว้ที่ 3.5 เหรียญฯ หรือ 105 บาท/กิโลกรัม เป็นราคาส่งออกยางแผ่นรมควัน ชั้น 3
นอกจากนี้ขอให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้สินเชื่อกับสถาบันเกษตรกร เพื่อการแปรรูปยางให้สามารถเก็บสต็อกได้ ซึ่งขณะนี้ สกย. ได้เจรจากับ ธกส. ไปส่วนหนึ่งแล้ว
พร้อมทั้งเสนอรัฐบาลให้จัดทำ Packing Credit กับภาคเอกชนที่ส่งออกยาง รวมทั้งขอความร่วมมือเกษตรกรชาวสวนยางลดหรือชะลอเวลาการกรีดยางลง จากกรีด 2 วันเว้น 1 วัน เป็นกรีดวันเว้นวัน หรือกรีดวันเว้น 2 วัน เพื่อลดปริมาณยางในท้องตลาด ช่วยทำให้ราคายางสูงขึ้น และขอร้องให้เกษตรกรหยุดกรีดยางต้นเล็กที่ยังไม่ได้ขนาดกรีด
รวมทั้ง ขอให้ทางการเพิ่มเป้าหมายการโค่นยางเพื่อปลูกแทนจากปีละ 255,000 ไร่ เป็น 400,000 ไร่ ในปีงบประมาณ 2555 และเสนอรัฐบาลทำโครงการ 8,000 ล้านบาทเพื่อให้เครดิตกับสถาบันเกษตรกรในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา