รัฐเตรียม 5 โครงการฟื้นฟูเยียวยาเกษตรกรประสบอุทกภัยทั้งระยะสั้น-ยาว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 15, 2011 14:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัย ซึ่งปีนี้ ได้ส่งผลต่อเกษตรกรและผลผลิตทางการเกษตรเป็นวงกว้าง โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมแผนการดำเนินงานช่วยเหลือและแนวทางการฟื้นฟูเกษตรกรภายหลังน้ำลดให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว แบ่งเป็นแผนการดำเนินงาน 5 แผน/โครงการ ทั้งระยะสั้นเพื่อช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนทันทีภายหลังน้ำลดและระยะยาวตามแนวทางดังนี้

1. การฟื้นฟูด้านอาชีพ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ และเกษตรกรที่เพาะปลูกกล้วยไม้ โดย ด้านพืช มีแนวทางการฟื้นฟูดังนี้ สำหรับเกษตรกรที่ปลูกข้าว ที่มีพื้นที่เสียหายเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ จะได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวตามที่เสียหายจริง แต่ไม่เกิน 10 ไร่ ในอัตราไร่ละ 10 กิโลกรัม, เกษตรกรที่ปลูกพืชไร่ที่ได้รับความเสียหาย จะได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชไร่และพืชอายุสั้น, เกษตรกรที่ปลูกไม้ผลยืนไม้ยืนต้น และพืชผักที่ได้รับความเสียหาย จะได้รับการสนับสนุนพันธุ์ไม้ หรือเป็นเมล็ดพันธุ์ผัก

เกษตรกรทั้งหมดที่ได้รับความเสียหาย ได้รับค่าใช้จ่ายในการปรับพื้นที่ทำการเพาะปลูก รายละไม่เกิน 5 ไร่ ไร่ละ 400 บาท คิดเป็นมูลค่า รายละ 2,000 บาท พร้อมสนับสนุนเกษตรกรปลูกพืชอาหารเพื่อการยังชีพ เกษตรกรทั้งหมดที่ได้รับความเสียหาย จะได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธ์ผัก/กล้าพันธุ์ผัก เพื่อให้เกษตรกรปลูกพืชผักในบริเวณบ้านทุกครัวเรือน เพื่อเป็นอาหารและลดรายจ่ายของเกษตรกรเหลือก็นำไปขายเป็นรายได้เสริม

สำหรับด้านประมง สำหรับเกษตรกรที่เสียหายจากการเลี้ยงสัตว์น้ำ จะได้รับการสนับสนุนพันธุ์ปลานิล พร้อมอาหารปลาทุกครัวเรือน และด้านปศุสัตว์ เกษตรกรที่เสียหายจากการเลี้ยงสัตว์ จะได้รับพันธุ์สัตว์ปีก เช่น ไก่พื้นเมือง ไก่ลูกผสมพื้นเมือง หรือเป็ดเทศ คละเพศ อายุ 1 เดือน พร้อมอาหาร และเวชพันธุ์ ภาชนะใส่น้ำ และตาข่าย สำหรับการฟื้นฟูแก่เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ที่ได้รับความเสียหายนั้นอยู่ระหว่างจัดทำโครงการ

2. การช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ซึ่งจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย พร้อมยืดอายุเวลาการชำระหนี้เก่าออกไปสามปี กู้ใหม่วงเงินไม่เกินรายละ 100,000 บาท รัฐชดเชยให้ร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี และสำหรับเกษตรกรที่เสียชีวิตจะจำหน่ายหนี้ออกโดยรัฐรับภาระชำระหนี้แทน นอกจากนี้ ยังเตรียมโครงการฟื้นฟูและสร้างโอกาสเพื่อการยังชีพของสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย เป็นการให้เงินอุดหนุนสมาชิกเพื่อเป็นเงินทุนในการยังชีพและซ่อมแซมทรัพย์สินของสมาชิกที่เสียหายจากอุทกภัย รวมทั้งจัดทำโครงการแก้ปัญหาน้ำนมโคของสหกรณ์ไม่มีแหล่งจำหน่ายเนื่องจากอุทกภัยปี 2554 โดยรับซื้อนมจากสหกรณ์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและสนับสนุนให้สหกรณ์ติดตั้งเครื่องบรรจุนม ยู เอช ที

3. โครงการช่วยเหลือเกษตรกรในภาพรวม แบ่งเป็น 4 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการพื้นฟูสุขภาพสัตว์และป้องกันโรคระบาดสัตว์หลังน้ำลด โดยจัดหายาและอุปกรณ์ในการดูแลรักษา (2) โครงการเตรียมความพร้อมด้านเสบียงอาหารสัตว์สำหรับช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์หลังน้ำลด โดยผลิตเสบียงอาหารสัตว์ หญ้าแห้งและอาหารข้น (3) โครงการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ราบลุ่มหลังน้ำท่วมเพื่อขยายพันธุ์สัตว์น้ำ จืด (พื้นที่ลุ่มน้ำยม/ลุ่มน้ำ เจ้าพระยา/ลุ่มน้ำโขง/ลุ่มน้ำท่าจีน) โดยเฉพาะสัตว์น้ำจืด ไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านตัวต่อปี ทำให้เกษตรกรที่ประสบอุทกภัยมีรายได้เสริมจากการจับสัตว์น้ำและมีอาหารไว้บริโภคในครัวเรือน และ (4) โครงการป้องกันและฟื้นฟูพื้นที่ดินถล่ม จ.อุตรดิตถ์ และ จ.เชียงใหม่ โดยจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิด ดินถล่ม และฟื้นฟูพื้นที่เกษตรที่เกิดดินถล่ม

4. การฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อม โดยจัดทำโครงการบำบัดน้ำเสียและบรรเทาปัญหาน้ำเน่าจากเหตุอุทกภัย โดยใช้ สารเร่ง พด. 6

5. การซ่อมแซมสิ่งก่อสร้าง แบ่งเป็นการดำเนินงานเพื่อสำรวจความเสียหายและซ่อมแซมระบบชลประทาน ในพื้นที่ 19 จังหวัด และจัดทำโครงการช่วยเหลือด้านทรัพย์สินของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร เสียหายจากอุทกภัยจำนวน 786 แห่ง ในพื้นที่30 จังหวัด โดยใช้เงินอุดหนุนสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง สุดท้ายคือ โครงการซ่อมแซมเครื่องจักรกลเกษตรที่ประสบปัญหาจากอุทกภัย เพื่อให้บริการซ่อมแซมเครื่องจักรกลเกษตรที่ได้รับความเสียหาย และอบรมเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยในการซ่อมบำรุงเครื่องจักรกลเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ