(เพิ่มเติม) ธปท.คาดสินเชื่อแบงก์พาณิชย์ Q4/54 อาจไม่เร่งตัว จากผลกระทบน้ำท่วม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 15, 2011 14:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.นวพร มหารักขกะ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงในปีนี้ อาจส่งผลกระทบต่อความต้องสินเชื่อ และทำให้การปล่อยสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในช่วงไตรมาส 4/54 ไม่เร่งตัวเหมือนในไตรมาส 3/54 ที่สินเชื่อขยายตัว 17.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือขยายตัว 15.1% จากไตรมาสก่อนหน้า

ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/54 ในแง่การผลิตอาจชะลอตัวลง แต่มองว่ารัฐบาลจะมีมาตรการออกมากระตุ้นเพื่อแก้ปัญหา ขณะที่ความต้องการสินเชื่อในไตรมาส 4/54 แม้ชะลอลง แต่บางส่วนอาจยังต้องการสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูการผลิต โดยมีความต้องการนำเข้าสินค้าขั้นกลางเพื่อเป็นปัจจัยการผลิต ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการแก้ปัญหาสถานการณ์น้ำท่วมและการรักษาความเชื่อมั่นของลูกค้าได้มากน้อยเพียงใด

น.ส.นวพร มองว่า ภายหลังน้ำลดแล้ว ธนาคารพาณิชย์ได้เตรียมสภาพคล่องไว้ระดับหนึ่ง เชื่อว่าจะมีสภาพคล่องเพียงพอรองรับความต้องการสินเชื่อ แม้ในไตรมาส 3/54 สภาพคล่องในระบบจะตึงตัวขึ้นเนื่องจากสินเชื่อที่เติบโตเร็ว แต่มองว่าการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังคงยึดการบริหารความเสี่ยง ขณะเดียวกันลูกหนี้ยังคงเดินหน้าธุรกิจได้เช่นเดียวกัน

พร้อมกันนี้ มองว่าระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยยังคงมีเสถียรภาพดี แต่ควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงและคุณภาพสินเชื่อที่อาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจต่างประเทศที่มีความเปราะบาง รวมถึงปัญหาน้ำท่วมครั้งรุนแรงในประเทศ

"ระบบธนาคารพาณิชย์ล่าสุดที่ไตรมาส 3 มีกำไรเพิ่มขึ้น และ NPL ลดลง ถือว่าอยู่ในระดับดีพอสมควร แต่ปัจจัยน้ำท่วม และเศรษฐกิจต่างประเทศยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งทั้งสองส่วนนี้เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม" น.ส.นวพร กล่าว

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วม จากรายงานสินชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในพื้นที่ 7 นิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วม มียอดสินเชื่อ 121,000 ลานบาท ส่วนจะมีผลกระทบจากน้ำท่วมมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับการแก้ไขสถานการณ์ ซึ่งบางธุรกิจอาจมีการย้ายการผลิตไปที่อื่น ทำให้บรรเทาผลกระทบน้ำท่วมได้บ้าง ขณะที่ก่อนน้ำท่วมพื้นฐานธุรกิจเหล่านี้ยังแข็งแกร่ง ธุรกิจขนาดใหญ่มีบริษัทแม่ในต่างประเทศช่วยสนับสนุน ดังนั้นเงินทุนธุรกิจส่วนใหญ่จึงไม่ใช่เงินกู้ แต่เป็นเงินลงทุนจากบริษัทแม่ รวมถึงปัจจัยการผลิตที่เป็นห่วงโซ่อุปทาน ดังนั้นมองว่า สินเชื่อคงไม่ถูกผลกระทบรุนแรง มีเพียงภาคธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องดูแล ซึ่งรัฐบาลก็มีการออกมาตรการช่วยเหลือ เพื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอี มีห่วงโซ่อุปทานให้เดินหน้าธุรกิจไปได้

"ตอนนี้แบงก์ชาติรอประเมินผลกระทบไม่เฉพาะภาคธุรกิจ แต่ยังมีด้านพาณิชย์ บริการ โรงแรม ท่องเที่ยว แต่มองว่าในภูมิภาคอื่นๆไม่ได้ถูกกระทบจากน้ำทวม ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถฟื้นตัวให้ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงกลับมาเดินหน้าได้เร็วแค่ไหน เพราะในส่วนแบงก์พาณิชย์ก็ไม่ได้มีจุดอ่อนอะไร" น.ส.นวพร กล่าว

ธปท.รายงานผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3/54 เสถียรภาพ สินเชื่อขยายตัวต่อเนื่อง สภาพคล่องตึงตัวขึ้น สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลง มีกำไรสุทธิอย่างต่อเนื่อง ฐานะเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง โดยภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ขยายตัว 17.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัว 15.1% ในไตรมาสก่อน

ทั้งนี้ สินเชื่อธุรกิจ (สัดส่วน 70.9% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 17.3% เพิ่มขึ้นทั้งสินเชื่อที่ให้แก่ธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจ SME ที่ 18.2% และ 16.5% ตามลำดับ สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่อยู่ในภาคการพาณิชย์ สาธารณูปโภค ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง และอุตสาหกรรมการผลิต สำหรับสินเชื่ออุปโภคบริโภค (สัดส่วน 29.1% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 17.4%จากระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อส่วนบุคคล

เงินฝากรวมตั๋วแลกเงิน (B/E) ขยายตัวชะลอลงเล็กน้อย โดย ณ สิ้นไตรมาส 3/54 ขยายตัว 13.6% จากระยะเดียวกันปีก่อน เทียบกับที่ขยายตัว 14.1% ในไตรมาสก่อน ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของ เงินฝากและ B/E ที่น้อยกว่าสินเชื่อ ส่งผลให้สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ตึงตัวขึ้น โดยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากรวม B/E เพิ่มขึ้นเป็น 89.7% จากการบริหารความเสี่ยงและการดูแลคุณภาพสินทรัพย์อย่างต่อเนื่อง

สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในไตรมาส 3/54 จึงลดลงจากไตรมาส 2/54 อีก 16.2 พันล้านบาท เหลือ 268.5 พันล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วน Gross NPL และ Net NPL ต่อสินเชื่อรวมลดลงเหลือ 2.8% และ 1.4% ตามลำดับ

ไตรมาส 3/54 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 37.4 พันล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 7.8 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลจากรายได้เงินปันผลที่ลดลงและการกันสำรองที่เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง ขณะที่มีกำไรสูงให้พร้อมรับกับความท้าทายในอนาคต ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Asset : ROA) ลดลงจาก 1.5% ในไตรมาสก่อน เหลือ 1.2%

อย่างไรก็ดี รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิยังคงเพิ่มขึ้นตามปริมาณสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin : NIM) อยู่ที่ระดับ 2.6% และผลกำไรที่มีอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนเพิ่มขึ้น โดย ณ สิ้นไตรมาส 3/54 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Tier-1 ratio) เพิ่มขึ้นเป็น 15.7% และ 12.4% ตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ