นายธวัชชัย ประยูรสิน รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 (สศข.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก.ประมาณการพื้นที่เก็บเกี่ยวและผลผลิต ในปี 2554/55 ของภาคตะวันออก ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี ระยอง และจันทบุรี คาดว่าจะมีพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทั้งสิ้น 525,660 ไร่ รวมประมาณ 5,723,150 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ที่มีพื้นที่เก็บเกี่ยว 40,799 ไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 8) ให้ผลผลิต 691,005 ตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 14)
สาเหตุที่ทั้งพื้นที่และผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงงานอ้อยเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อขยายการผลิตเอทานอล และในปีนี้ปริมาณน้ำฝนมีเพียงพอทำให้ผลผลิตต่อไร่ที่ได้สูงกว่าปีที่ผ่านมา ถึงแม้เกษตรกรบางส่วนในจังหวัดสระแก้ว และฉะเชิงเทรา จะประสบปัญหาน้ำท่วมไร่อ้อยเสียหายประมาณ 3,667 ไร่ แต่ก็คิดเป็นพื้นที่เสียหายเพียงร้อยละ 0.70 โดยแหล่งผลิตใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดสระแก้วเพราะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพการผลิตสามารถขยายพื้นที่ปลูกได้ และยังมีแรงงานจากประเทศกัมพูชาเข้ามารับจ้างตัดอ้อย
ซึ่งในฤดูหีบปีนี้ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้กำหนดให้โรงงานเริ่มเปิดหีบได้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 เนื่องจากคาดว่าปริมาณผลผลิตอ้อยในฤดูนี้ทั้งประเทศจะมีมากร่วม 100 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าปีที่แล้ว ที่อ้อยเข้าหีบได้จำนวน 95.36 ล้านตัน โดยผลิตน้ำตาลทรายได้จำนวน 9.7 ล้านตัน ใช้บริโภคภายในประเทศ 2.5 ล้านตัน และส่งออกต่างประเทศ 7.2 ล้านตัน
สำหรับภาคตะวันออกมีโรงงานน้ำตาลรองรับผลผลิตอยู่ในพื้นที่ถึง 4 โรงงาน กำลังการผลิตรวม 35,816 ตันอ้อย/วัน ได้แก่ โรงงานน้ำตาลนิวกว้างซุ่นหลี จ.ชลบุรี มีกำลังการผลิต 6,478 ตันอ้อย/วัน, โรงงานสหการน้ำตาลชลบุรี กำลังการผลิต 5,800 ตันอ้อย/วัน, บริษัทน้ำตาลระยอง จ.ชลบุรี กำลังการผลิต 5,560 ตันอ้อย/ตัน และ บริษัทน้ำตาลและอ้อยตะวันออก จ.สระแก้ว กำลังการผลิต 17,978 ตันอ้อย/วัน โดยโรงงานจะเริ่มทยอยรับอ้อยได้ตั้งแต่วันที่ 21 — 22 พฤศจิกายน เป็นต้นไป ได้แก่ โรงงานน้ำตาลนิวกว้างซุ่นหลี และ บริษัทน้ำตาลและอ้อยตะวันออก ส่วนที่เหลือจะทยอยเดินเครื่องต่อ ซึ่งกำลังการผลิตจริงของแต่ละโรงงานจะสามารถรับผลผลิตตันอ้อย/วัน ได้มากกว่าที่แจ้ง แต่ทั้งนี้จะต้องไม่ประสบปัญหาเครื่องจักรขัดข้อง ซึ่งจากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และกำลังการผลิต คาดว่าโรงงานน้ำตาลจะต้องเดินเครื่องหีบอ้อยแต่ละโรงงานไม่น้อยกว่า 110 - 150 วัน มากกว่าปีที่ผ่านมาที่เดินเครื่องแต่ละโรงงาน 100 — 130 วัน
จากการสำรวจของสมาคมเพื่อเกษตรกรภาคตะวันออกในปี 54/55 เกษตรกรภาคตะวันออกมีต้นทุนการผลิตอ้อยเฉลี่ยตันละ 874 บาท ซึ่งต้นทุนต่ำกว่าปี 53/54 ที่มีต้นทุนเฉลี่ยตันละ 950 บาท เนื่องจากปีนี้ผลผลิตต่อไร่ของเกษตรกรเพิ่มมากขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตต่อไร่ลดลง และสมาคมฯ คาดว่าราคาที่เกษตรกรจะได้รับควรจะอยู่ที่ราคาต้นทุนบวกเพิ่มกำไรอีกร้อยละ 30
ดังนั้น สมาคมฯ คาดว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายในปี 54/55 ที่เกษตรกรภาคตะวันออกจะได้คือตันละ 1,136.20 บาท ซึ่งเป็นราคาที่มีโอกาสเป็นไปได้เกินจากที่สมาคมฯ คาดหวังไว้ เนื่องจาก กอน. ได้ประกาศราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูผลิตปี 54/55 อยู่ที่ประมาณ 1,000 บาท/ตัน ณ ความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส อัตราขึ้น/ลง 60 บาท/ซี.ซี.เอส ซึ่งหากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เพิ่มชดเชยจากราคาอ้อยขั้นต้นให้อีกตันละ 200 บาท ก็เท่ากับเกษตรกรจะได้รับราคาอ้อยขั้นสุดท้ายถึงตันละ 1,200 บาท นั่นเอง
ทั้งนี้ สถานการณ์การผลิตปี 54/55 แหล่งผลิตใหญ่ทั่วโลกผลิตได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศที่เอื้ออำนวยทั้งยุโรป รัสเซีย และจีน ซึ่งรัสเซียจะลดการนำเข้า ส่วนจีนคาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น เพราะที่ผ่านมาราคาน้ำตาลแพง และนำน้ำตาลในสต๊อกออกขายมาก และอ้อยของออสเตรเลียถูกน้ำท่วม สำหรับบราซิลซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่ของโลก ส่วนใหญ่จะเป็นอ้อยตอซึ่งจะไว้ตอนาน 4 - 6 ปี ได้ประสบปัญหาน้ำท่วมเช่นกันทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง จึงคาดผลผลิตน้ำตาลโลกจะผลิตได้ 176.34 ล้านตัน และถึงแม้ขณะนี้ราคาอ้อยในตลาดโลกจะปรับลดลง แต่คงจะไม่กระทบกับราคาอ้อยในปีนี้เพราะได้ขายล่วงหน้าเกือบหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่จับตาของตลาดโลกเพราะผลผลิตของไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งไทยนับเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับ 2 ของโลก
ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยภาคตะวันออกทุกครัวเรือนที่มีสัญญาส่งอ้อยกับโรงงานน้ำตาลในปีนี้ จะต้องรีบแจ้งจดทะเบียนชาวไร่อ้อยกับโรงงานน้ำตาลหรือเขตประสานงานอ้อยและน้ำตาลทราย 8 ชลบุรี อย่างช้าภายใน 30 พฤศจิกายน 2554 นี้ เพื่อผลประโยชน์ที่พึงจะได้รับของเกษตรกรเอง และเกษตรกรควรจะเน้นตัดอ้อยสด สะอาด ไม่เผาไฟก่อนตัด เพราะโรงงานจะเน้นนโยบาย Green & Clean ซึ่งเกษตรกรจะไม่ถูกตัดราคาอ้อยสกปรกและไฟไหม้