(เพิ่มเติม) ผู้ว่า ธปท.ระบุยังมีพื้นที่ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย-ค่าบาทไม่น่ากังวล

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 18, 2011 11:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีพื้นที่ให้ ธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ ที่ผ่านมาได้มีการปรับดอกเบี้ยนโยบายให้ใกล้เคียงอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ของปี 55 ที่อยู่ในระดับ 3.5% แล้ว และในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 30 พ.ย.นั้น ขณะนี้ กนง.กำลังติดตามคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ความเชื่อมั่นภาคเอกชน และการบริโภคอย่างใกล้ชิด

ธปท.มองว่าหลังจากน้ำลดการผลิตและยอดขายรถยนต์จะกลับมาในไตรมาสแรกปี 55 ส่วนค้าปลีกจะกลับมาเป็นปกติเช่นกัน เพราะการขนส่งคมนาคมกลับมาดีแล้ว อีกทั้งหลังจากไตรมาส 4/54 จะมีมาตรการรัฐมากระตุ้นการลงทุนด้วย ส่งผลให้เกิดอุปสงค์ภายในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยผลักดันให้เศรษฐกิจในปีหน้าขยายตัวดีขึ้น

สำหรับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยใหญ่ในครั้งนี้ ขณะนี้ยังไม่เห็นความเสียหายชัดเจนโดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ แต่ในส่วนของซัพพลายเชนน่าจะมีผลกระทบช่วงสั้นไม่นานจะกลับมามีสภาพตามปกติ

นายประสาร ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันค่าเงินบาทค่อนข้างนิ่ง โดยเคลื่อนไหวราว 30.80 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวตามค่าเงินยุโรปและสหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนยังกังวลความเสี่ยงในการถือครองสินทรัพย์และหุ้นในตลาดเกิดใหม่ จึงมีการขายสินทรัพย์มาเพื่อถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐแทน

ความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทดังกล่าวไม่ได้น่ากังวลสำหรับ ธปท. ประกอบกับ ทุนสำรองของประเทศยังอยู่ในปริมาณที่สูง และขณะนี้ไม่จำเป็นต้องเข้าไปดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยน อีกทั้งพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยดีกว่าสหรัฐและยุโรป

ส่วนเงินชดเชยความเสียหายที่บริษัทประกันภัยต่อในต่างประเทศจะต้องจ่ายให้กับผู้ทำประกันจากเหตุการณ์อุทกภัยที่จะไหลเข้ามาอาจมีผลต่อค่าเงินบาทระยะสั้นให้แข็งค่าขึ้นบ้าง แต่อีกด้านก็เงินไหลออกจากการนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบเพื่อฟื้นฟูภาคการผลิตหลังน้ำลด ทำให้แนวโน้มค่าเงินบาทไม่น่าจะมีปัญหาและไม่น่ากังวล

นายประสาร กล่าวว่า จากการดูตัวเลขการทำประกันทั้งประเทศที่ 7 แสนล้านบาท ความเสียหายจากอุทกภัยไม่น่าเกิน 2 แสนล้านบาท เมื่อแปลงมูลค่าเป็นดอลลาร์สหรัฐก็ไม่ถือว่าสูงมาก แต่ความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนเกิดจากเศรษฐกิจประเทศหลักที่ยังไม่มีความชัดเจนในการฟื้นตัว ดังนั้น ตลาดเงินจะต้องติดตามความเคลื่อนไหวและให้ความสำคัญกับปัญหายุโรปว่าจะกระทบกับสถาบันการเงินหรือลุกลามไปมากขึ้นหรือไม่ เพราะจะทำให้ค่าเงินบาทยังมีความผันผวนอยู่มาก

"ตอนนี้ตลาดเงินหันเข้าไปถือสกุลเงินที่มีการค้าขาย ซึ่งเป็นสกุลเงินหลัก ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น แต่ไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศมากเพียงพอที่จะให้สถาบันการเงินนำเงินบาทมาแลกดอลลาร์เพื่อทำการค้าขาย"นายประสาร กล่าว

ผู้ว่าการ ธปท. ยังแนะนำให้รัฐบาลกู้เงินสกุลบาทในประเทศแทนการออกพันธบัตรแล้วนำทุนสำรองฯออกมาใช้ในการฟื้นฟูประเทศ เนื่องจากการกู้เงินบาทเป็นวิธีที่ง่ายและต้นทุนถูก เพราะอัตราดอกเบี้ยระยะยาวในประเทศยังต่ำ โดยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี มีอัตราดอกเบี้ย 3.44% ขณะที่ต้นทุนการกู้เป็นดอลลาร์อายุ 10 ปี ดอกเบี้ย 4.3% ต่อปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ