นายฉัตรชัย เต้าทอง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 11 อุบลราชธานี (สศข.11) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำแผนพัฒนาการเกษตร เพื่อมุ่งหวังให้ภาคเกษตรเป็นฐานการผลิตที่ปลอดภัย โดยมีวิสัยทัศน์ให้ “เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนมีความมั่นคงด้านอาหาร เป็นฐานสร้างรายได้ให้แก่แผ่นดิน" จึงเร่งผลักดันให้มีการแปลงแผนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะพื้นที่โครงการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร เน้นรณรงค์การใช้สารอินทรีย์เพื่อลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรให้เป็นกิจกรรมหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แบบบูรณาการในเขตพื้นที่ชลประทานนำร่องที่มีศักยภาพ
เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่เขตเกษตรเศรษฐกิจที่รับผิดชอบ 5 จังหวัด ของ สศข.11 จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และมุกดาหาร ยังคงใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรในการประกอบอาชีพมากขึ้น ซึ่งการใช้ในปริมาณที่มากและต่อเนื่องโดยขาดการปรับปรุงบำรุงดินอย่างถูกต้อง จะส่งผลให้ดินแข็งกระด้าง ขาดอินทรีย์วัตถุ ผลผลิตที่ได้ก็ไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร ซึ่งในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (ปี 2555-2559)
ทั้งนี้ สศข.11 ได้ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ จัดประชุมทำประชาคมเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการขับเคลื่อนแผนพัฒนาการเกษตรให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ภายใต้โครงการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ปี 2555 โดยมีหน่วยงานหลักด้านการส่งเสริม ด้านพืช สัตว์ และประมง และพัฒนาที่ดิน ที่จะเข้าไปรณรงค์ส่งเสริมเกษตรกรให้ปรับเปลี่ยนระบบการผลิตจากที่พึ่งพาสารเคมีทางการเกษตรแต่เพียงอย่างเดียว ให้หันมาพึ่งพาสารอินทรีย์ที่สามารถผลิตได้เองจากวัสดุที่มีในท้องถิ่น เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ และให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสมและยั่งยืน และให้ผู้แทนกรมส่งเสริมสหกรณ์มีการพัฒนากลุ่มเกษตรกรใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมีทางการเกษตรให้เข้มแข็ง และจัดตั้งเป็นสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ จำกัด ขึ้นในพื้นที่โครงการนำร่องเพื่อดำเนินงานด้านการผลิต แปรรูป และการตลาดอย่างครบวงจร และมีความพร้อมเข้าสู่การรับรองมาตรฐานคุณภาพกับกรมวิชาการเกษตร กรมข้าว กรมปศุสัตว์ และกรมประมง
นอกจากนี้ ทางคณะอนุกรรมการบูรณาการแผนปฏิบัติการพัฒนาการเกษตรระดับจังหวัด จะได้มีการประชุมคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านน้ำ ดิน และความพร้อมของเกษตรกรเพิ่มจากปี 2553 อีกจังหวัดละ 1-2 แห่ง และกำหนดแนวทางการพัฒนาสินค้าการเกษตรปลอดภัยและได้มาตรฐาน นำไปสู่การผลิตเกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพ และพัฒนาไปสู่การประกาศให้จังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบ เป็น “เมืองเกษตรอินทรีย์ หรือ ออร์แกนิก ซิตี้" ในอนาคต โดยประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่สามารถช่วยสนับสนุนงบประมาณขับเคลื่อนโครงการด้านศึกษา ดูงาน เกษตรอินทรีย์ต้นแบบ และการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการผลิต และใช้สารอินทรีย์เพื่อทดแทนสารเคมีตลอดจนประสานภาคเอกชนให้มีการรับซื้อสินค้าเกษตรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานความปลอดภัย