ธนาคารกลางมาเลเซียเปิดเผยวานนี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัว 5.8% ในไตรมาสสามของปี 2554 โดยได้รับปัจจัยขับเคลื่อนหลักจากความต้องการภายในประเทศและการฟื้นตัวในภาคการผลิต ซึ่งอัตราขยายตัวของจีดีพีในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายนสูงกว่าไตรมาสสองที่ขยายตัว 4.3%
เซติ อักห์ตาร์ อาซิส ผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซียกล่าวในการแถลงข่าวพร้อมกับการเปิดเผยตัวเลขจีดีพีไตรมาสสามว่า แม้สภาพแวดล้อมในต่างประเทศมีความท้าทายมากขึ้น และความไม่แน่นอนเพิ่มสูงขึ้น แต่เศรษฐกิจมาเลเซียก็ยังสามารถขยายตัวได้แข็งแกร่งกว่าเดิม ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากความต้องการภายในประเทศที่แข็งแกร่ง
"อุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของการใช้จ่ายทั้งในภาคครัวเรือนและธุรกิจ รวมถึงการใช้จ่ายภาคสาธารณะที่สูงขึ้น" ธนาคารกลางระบุในแถลงการณ์"
"ภาคเศรษฐกิจส่วนใหญ่มีการขยายตัวที่ดีขึ้นในช่วงไตรมาสสาม โดยเฉพาะภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้นมาก เพราะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความต้องผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรธรรมชาติที่แข็งแกร่งในภูมิภาค ประกอบกับการที่ห่วงโซ่อุปทานกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากที่ประสบปัญหาติดขัดอันเนื่องมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในญี่ปุ่น"
ทั้งนี้ อุปสงค์ภายในประเทศขยายตัว 9% ในไตรมาสสาม ขณะที่ภาคการผลิตพุ่ง 5.1% จาก 2.1% ในไตรมาสก่อนหน้า ภาคการเกษตรขยายตัว 8.2% เนื่องจากผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบและยางธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนภาคบริการปรับตัวขึ้น 7.0% และภาคก่อสร้างโต 3.0% จาก 0.6% ในไตรมาสสอง อันเนื่องมาจากโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ภาคเหมืองแร่หดตัวในไตรมาสสาม โดยลดลง 6.1% เนื่องจากผลผลิตน้ำมันดิบได้รับผลกระทบจากการปิดโรงงานผลิต
ในเดือนที่แล้ว นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก ซึ่งดำรงตำแหน่งรมว.คลังด้วยนั้น ได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจมาเลเซียจะขยายตัว 5.5% ในปีนี้
"ภาคสาธารณะได้รับแรงกระตุ้นในไตรมาสสาม และเราคาดว่าแนวโน้มนี้จะยังดำเนินต่อไปในไตรมาสสี่" นางเซติกล่าว
เธอกล่าวด้วยว่า มีแนวโน้มอย่างมากที่ธนาคารกลางจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 3% ไปตลอดระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ หากไม่มีความเสี่ยงเรื่องการหดตัวที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ
สำหรับเงินเฟ้อในไตรมาสสามอยู่ที่ 3.4% และคาดว่าจะยังคงทรงตัวในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ และเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในปี 2555