นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) เปิดเผยว่า สภาพัฒน์ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของไทยในปีนี้เหลือเติบโต 1.5% จากเดิมคาดไว้ที่ 3.5-4% เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมหนัก แต่ในปี 55 คาดว่าจีดีพีจะกลับมาขยายตัวได้สูงถึง 4.5-5.5%
สภาพัฒน์ประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/54 ขยายตัวที่ระดับ 3.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ได้ปรับจีดีพีไตรมาส 2/54 มาเป็นเติบโต 2.7% จากเดิมประกาศไว้ที่ 2.6% โดยการขยายตัวของจีดีพีไตรมาส 3/54 สืบเนื่องมาจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมส่งออก อุตสาหกรรมยานยนต์ฟื้นตัวจากผลกระทบสึนามิ ค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนชะลอตัวลงจากรายได้เกษตรที่มีแนวโน้มชะลอตัว และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว
ขณะที่ในไตรมาส 4/54 คาดว่าเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ที่ขยายวงกว้าง ซึ่งจะทำให้จีดีพีทั้งปี 54 ชะลอตัวลงจากคาดการณ์เดิมด้วย
ส่วนในปีหน้าเศรษฐกิจน่าจะเติบโตได้ดีที่ระดับ 4.5-5.5% โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากการปรับตัวดีขึ้นทั้งอุปสงค์ภายในและต่างประเทศ การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการเร่งรัดการลงทุนเพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหากจากน้ำท่วมในปลายปี 54
พร้อมกันนั้นยังมีมาตรการสนับสนุนด้านสินเชื่อ มาตรการภาษีที่มีส่วนสำคัญต่อการฟื้นฟูภาคเกษตร อุตสาหกรรมและภาคการบริการ ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการสร้างงานเพิ่มขึ้น รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลที่เน้นการเพิ่มรายได้ ทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งการลงทุนของภาคเอกชนในส่วนของเครื่องจักรใหม่และซ่อมแซมเครื่องจักรเก่าที่เสียหายจากน้ำท่วม ขณะที่อุปสงค์ต่างประเทศปรับตัวได้ดีจากการขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชียเป็นหลัก
ทั้งนี้ สภาพัฒน์ฯ ยังแนะถึงประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 54 และปี 55 ว่าควรให้ความสำคัญกับ 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.การฟื้นฟูและการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และการบริหารจัดการน้ำในปี 55 โดยเร่งรัดดำเนินการตามมาตรการฟื้นฟูและเยียวยา เพื่อให้ภาคการผลิตและกำลังซื้อของครัวเรือนกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายในไตรมาสแรกของปี 55, การดูแลป้องกันปัญหาขาดแคลนสินค้า และความเป็นธรรมด้านราคาสินค้าในช่วงหลังน้ำลด รวมทั้งราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการฟื้นฟูบูรณะที่อยู่อาศัยของประชาชนและภาคธุรกิจ, การแก้ไขปัญหาและเตรียมการรองรับฤดูฝนปี 55 โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมตั้งแต่ต้นฤดู ระบบการระบายน้ำ และระบบการป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจ ชุมชน และเมือง, การวางแผนและดำเนินการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว เพื่อสร้างหลักประกันและความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน ไม่ให้กระทบต่อบรรยากาศการลงทุนทั้งในระยะกลางและระยะยาว
2.การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับความเสี่ยงด้านความผันผวนของระบบการเงินโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยุโรป โดยให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงจากภาวะผันผวนของค่าเงิน รวมทั้งการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากปัญหาอุทกภัย และการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการคลังอย่างเหมาะสม
3.การเร่งรัดการปฏิรูปทางการคลังเพื่อเตรียมความพร้อมด้านงบประมาณสำหรับการพัฒนาประเทศในระยะยาว และการรักษาเสถียรภาพทางการคลัง โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างอัตราภาษี ควบคู่ไปกับการขยายฐานภาษี และการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ และการใช้จ่ายภาครัฐ