นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงวันนี้ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาถึงปัญหาการประกันภัยต่อกรณีเกิดน้ำท่วม ซึ่งนายอารีพงศ์ ภู่ชะอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง จะร่วมคณะเดินทางของนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ(กยอ.)ไปยังประเทศอังกฤษ เพื่อเจรจากับบริษัทลอยด์ บริษัทรับประกันภัยต่อรายใหญ่ของโลก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาและบริหารจัดการน้ำของไทย นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะได้วางแนวทางกระตุ้นให้นิคมอุตสาหกรรมขอสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรน(Soft loan) เพื่อนำไปใช้สร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม
แนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีขึ้นหลังจากเกิดกรณีที่บริษัทรับประกันต่างประเทศยังรับประกันภัยต่อจากบริษัทประกันภัยในไทย แต่ยกเว้นกรณีน้ำท่วมที่ยอมรับความเสี่ยงแค่ 10% เท่านั้น ซึ่งส่วนที่เหลือภาคเอกชนคงต้องรับความเสี่ยงไปก่อนจนกว่าแผนการแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบจะแล้วเสร็จ
"การสร้างเขื่อนรอบนิคมฯ ถ้าไม่สร้าง ลูกค้าก็หนีไปหมด เพราะถ้านิคมไม่ทำอะไร ลูกค้าก็หายไปเพราะยังมีที่อื่นที่ยังแห้ง น้ำไม่ท่วม หากไม่จัดการป้องกันก็ลำบาก...เราต้องอธิบายให้เข้าใจด้วยว่าจะมีการยกระดับถนน เพราะถ้านิคมฯ แห้ง แต่คนมาทำงานไม่ได้ก็มีปัญหา ซึ่งถ้าจะทำในส่วนของ North-South ก็ทำเป็นเขื่อน ส่วน East-West ทำอย่างไรไม่ให้ขวางทางน้ำ ก็ต้องทำเป็นทางลอด ต้องให้กระบวนการ Logistics อยู่ได้ ไม่ให้มีน้ำท่วม"นายธีระชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวคงต้องมีการเจรจาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกันหลายครั้ง แต่ยอมรับว่าการที่จะให้รัฐบาลเข้ามารับประกันเองโดยตรงคงเป็นเรื่องใหญ่ เพราะจะเป็นภาระหนี้ของประเทศมาก เนื่องจากยังไม่รู้ต้องใช้เงินจำนวนมากน้อยแค่ไหนในการรับประกัน
นายธีระชัย กล่าวอีกว่า ในระหว่างหารือกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงยังได้เร่งรัดติดตามการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล และนโยบายการปฎิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต ซึ่งจะได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ส่วนนโยบายการปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลที่จะสิ้นสุดลงในเดือน ธ.ค.54 นั้น กระทรวงการคลังจะหารือร่วมกับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ พร้อมกับ รมว.พลังงาน เพื่อพิจารณาแนวทางการทยอยปรับขึ้นภาษีร รวมถึงจังหวะเวลาที่เหมาะสม
ด้านนายอารีพงศ์ กล่าวว่า จากน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทยทำให้ความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติมีเพิ่มขึ้น และบริษัทประกันภัยจะต้องมีการเพิ่มเบี้ยประกันภัย ซึ่งต้องเจรจากับธุรกิจประกันภัยในต่างประเทศเพื่อให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลจะมีการลงทุนและมีการจัดการน้ำอย่างจริงจัง เชื่อว่าการเจรจาในช่วงนี้อาจเร็วไป แต่คงต้องรอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ที่มีนายสุเมธ ตันติเวชกุล เป็นที่ปรึกษา ได้จัดทำแผนให้แล้วเสร็จ คาดว่าใช้เวลาอีก 1 ปี ดังนั้นในขณะนี้คงต้องทยอยเจรจาเบื้องต้นไปก่อน
ส่วนปัญหาการสร้างเขื่อนล้อมรอบนิคมว่าใครจะเป็นผู้กู้นั้น ขณะนี้นิคมอุตสาหกรรมแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มนิคมภายใต้การดูแลของการนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) กลุ่มนิคมฯที่เป็นเอกชนดำเนินการ และนิคมสหรัตนคร ที่เป็น NPL ซึ่งการสร้างเขื่อนแก้ปัญหาน้ำท่วม คงต้องขึ้นอยู่กับผู้ที่มีสิทธิดูแล ทั้งระบบน้ำ ไฟ ระบบบริหารจัดการภายใน
"แก้ปัญหาน้ำท่วมมีทั้งสร้างเขื่อนล้อมรอบ และการบริหารจัดการน้ำที่ต้องปรับปรุง และจุดยุทธศาสตร์สำคัญคือนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีเงินลงทุน 5-6 แสนล้านบาท หากมีการลงทุนโดยใช้เงินร้อยล้าน พันล้านเพื่อดูแลทรัพย์สิน 2-3 แสนล้านบาทในแต่ละนิคมก็น่าจะคุ้มค่า" นายอารีพงศ์ กล่าว