โบรกฯ เชื่อ กนง.ลดดอกเบี้ย 0.50%หลังศก.ในประเทศเสียโมเมนตัมโตก่อนน้ำท่วม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 22, 2011 09:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บทวิเคราะห์ บล.ธนชาต คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะถูกปรับลง 0.50% มาอยู่ที่ 3% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)วันที่ 30 พ.ย.หลังจากตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในไตรมาส 3/54 ออกมาน่าผิดหวัง แสดงให้เห็นสัญญาณการสูญเสียโมเมนตัมการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศตั้งแต่ก่อนน้ำท่วม ขณะที่สภาพัฒน์ปรับลดประมาณการ GDP ปีนี้ลงมาอยู่ที่ 1.5% ทำให้เราปรับลดประมาณการ GDP ลงไปอีกจาก 1.5% มาอยู่ที่ 1.3% ขณะที่ยังคาดว่า GDP ปี 55 จะเติบโตต่ำกว่า 4%

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคำแนะนำของ ธปท. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และสัญญาณที่เป็นลบจากตัวเลข GDP ไตรมาส 3/54 ที่ออกมา เราจึงเชื่อว่าตลาดได้รับรู้ถึงข่าวบวกนี้ไปแล้ว และ SET ยังได้ปรับตัวขึ้นมาแล้วในช่วง 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยปราศจากข่าวดีอีกด้วย ดังนั้น เราจึงไม่คาดว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะเป็นปัจจัยผลักดันตลาด ในทางตรงกันข้ามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้บอกเราถึงโมเมนตัมเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอลงอย่างรวดเร็ว

บล.ธนชาต ระบุว่า ไตรมาส 3/54 ภาคการส่งออกยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ 29%y-y ในรูปดอลลาร์สหรัฐ ส่วนเศรษฐกิจภายในประเทศได้สูญเสียจังหวะการเติบโตตั้งแต่ก่อนหน้าเหตุการณ์น้ำท่วม ภาคการบริโภคอ่อนแอกว่าที่คาดที่ 2.4%y-y เทียบกับประมาณการของเราที่ 3.0% การลงทุนของภาครัฐเป็นที่น่าผิดหวังที่สุด โดยลดลง 11% เทียบกับประมาณการเติบโตของเราที่ 5% สภาพัฒน์อธิบายถึงเหตุผลที่หดตัวลงครั้งนี้ว่ามีสาเหตุมาจากโครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ได้สิ้นสุดลง

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเติบโตน้อยกว่าที่คาดที่ 9% เทียบกับประมาณการของเราที่ 11% ถึงแม้การเติบโต 3.5%y-y จะเป็นการเติบโตในระดับที่สูงกว่าในงวดไตรมาส 2/54 ซึ่งอยู่ที่ 2.7%y-y ถือว่าเป็นระดับค่อนข้างต่ำกว่าปกติเนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิในประเทศญี่ปุ่น และเราคาดว่างวดไตรมาส 3/54 จะกลับตัวอย่างแข็งแกร่งจากการกลับมาดำเนินการของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ รวมถึงความต้องการที่ถูกอั้นไว้

ประเด็นที่สำคัญ 3 ประการ 1) เศรษฐกิจในประเทศกำลังสูญเสียโมเมนตัมการเติบโต 2) การส่งออกซึ่งช่วยผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมากในช่วง 9 เดือนแรกได้แตะระดับสูงสุดแล้ว และคาคว่าจะหดตัวลงในช่วงไตรมาส 4/54 เนื่องจากน้ำท่วม และปี 55 น่าจะเติบโตเพียง 3.8% เนื่องจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก 3) GDP ของภาคการเกษตรลดลง 1%y-y ในช่วงไตรมาส 3/54 เทียบกับ 6-7% ในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งส่งสัญญาณที่เลวร้ายต่อรายได้ภาคการเกษตร เป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากต่อเรื่องราวการบริโภคที่เฟื่องฟูในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในความเป็นจริงแล้ว รายได้ภาคการเกษตรได้แตะระดับสูงสุดไปแล้วในช่วงครึ่งปีแรก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ