สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือสกุลเงินต่างประเทศของไทยที่ระดับ 'BBB+/A-2' และคงอันดับความน่าเชื่อถือสกุลเงินบาทที่ระดับ 'A-/A-2' พร้อมกับให้แนวโน้มระยะยาวยังคงมีเสถียรภาพ
แถลงการณ์ของเอสแอนด์พีระบุว่า ปัจจัยหลักที่สนับสนุนความน่าเชื่อถือของประเทศไทยนั้น ยังคงเป็นปัจจัยที่ว่าไทยมีสถานะเป็นผู้ปล่อยกู้สุทธิในต่างประเทศ และรัฐบาลไทยมีหนี้สุทธิในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งปัจจัยที่แข็งแกร่งเช่นนี้สามารถชดเชยภาวะเศรษฐกิจที่มีรายได้ต่ำและความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังคงเกิดขึ้นในขณะนี้
เอสแอนด์พีคาดว่า ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของไทยจะอยู่ที่ 1.73 แสนล้านดอลลาร์ (คิดเป็นมูลค่าเท่ากับยอดชำระดุลบัญชีเดินสะพัดในระยะเวลา 9 เดือน) ณ สิ้นปี 2554 ซึ่งทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในระดับสูงเช่นนี้จะช่วยรองรับผลกระทบทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเงิน
นายทากาฮิระ โอกาวา นักวิเคราะห์ด้านความน่าเชื่อถือของ S&P กล่าวว่า "เหตุการณ์น้ำท่วมซึ่งส่งผลกระทบต่อนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ และพื้นที่บางส่วนในกรุงเทพฯนั้น จะส่งผลให้รัฐบาลไทยมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการลงทุนด้านสาธารณูปโภคที่จำเป็น และค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม แต่อย่างไรก็ตาม เอสแอนด์พีเชื่อว่า สถานะการคลังที่แข็งแกร่งและมีความยืดหยุ่นของไทย จะสามารถรองรับภาระด้านการคลังในสถานการณ์เช่นนี้ได้"
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เอสแอนด์พีมองว่า หากรัฐบาลไทยไม่สามารถดำเนินมาตรการป้องกันเหตุการณ์น้ำท่วมในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อประเทศไทย และอาจจะสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะกลางและระยะยาวของไทยด้วย
นอกจากนี้ เอสแอนด์พีระบุว่า ความผันผวนทางการเมืองถือเป็นจุดอ่อนแอที่มีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ขณะเดียวกัน การที่ไทยมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง ทำให้ไทยเผชิญกับความยุ่งยากมากขึ้นในการปฏิรูปทางโครงสร้าง และยังขัดขวางการลงทุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งอุปสรรคเช่นนี้อาจจะทำให้ศักยภาพในการขยายตัวในระยะยาวลดน้อยลงไปด้วย
ทั้งนี้ เอสแอนด์พีระบุว่า อาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทย หากสถานะทางการคลังและดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจของไทยถดถอยลงอันเนื่องมาจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาล แต่ในทางตรงกันข้าม เอสแอนด์พีอาจจะปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของไทย ถ้าหากสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง ซึ่งสภาวะดังกล่าวจะเป็นปัจจัยหนุนแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และยังช่วยหนุนสถานะทางการคลังของรัฐบาลไทยด้วย