สถานการณ์ในยูโรโซนยังคงเป็นที่สนใจไม่เสื่อมคลาย ขณะที่ยังไม่มีแนวทางคลี่คลายวิกฤติของภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรม และประเทศที่เป็นต้นตอของปัญหาอย่างกรีซก็ยังไม่หลุดพ้นจากวังวนหนี้ ยิ่งไปกว่านั้นพัฒนาการในเชิงลบของปัญหาด้านการคลังยังมีแนวโน้มที่จะขยายวงกว้างไปยังประเทศสมาชิกที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่มากขึ้น ท่ามกลางภาพรวมเศรษฐกิจยุโรปที่มีแนวโน้มถลำสู่ภาวะถดถอยรอบใหม่ในช่วงปีหน้า ล่าสุด อิตาลีก็ได้เข้ามาเบียดซีนกับกรีซในการเขย่าตลาดการเงินและสร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลก
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การเมืองมีส่วนสำคัญต่อการแก้ปัญหาวิกฤติหนี้ของภูมิภาค เพราะหลายประเทศที่ประสบกับความล่าช้าหรือชะงักงันในการคลี่คลายปัญหาเศรษฐกิจและการเงินของประเทศต่างก็มีสาเหตุสำคัญมาจากระบบและขั้นตอนทางการเมือง ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหรือความเคลื่อนไหวใดๆในทางการเมือง ทุกคนต่างก็จะจับจ้องเป็นพิเศษด้วยความหวังลึกๆว่า อาจเป็นการเปิดทางสู่การคลี่คลายหายนะทางเศรษฐกิจที่เรื้อรังอยู่ในขณะนี้
เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2554 ที่ผ่านมานับเป็นวันสำคัญ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ทั้งในกรีซและอิตาลี ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ โดยนาย “ลูคัส ปาปาเดมอส" อดีตรองประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ก็ได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของกรีซ แทนนายจอร์จ ปาปันเดรอู อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ประกาศลาออกไปก่อนหน้านั้น เนื่องจากถูกกดดันอย่างหนักให้ลาออกจากตำแหน่งหลังจากที่เขาประกาศจัดทำประชามติว่าประชาชนชาวกรีซจะยอมรับความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรปหรือไม่ ซึ่งได้สร้างความตื่นตระหนกแก่ตลาดเงินและตลาดหุ้นทั่วทั้งยุโรป แม้ได้มีการประกาศยกเลิกแผนดังกล่าวในเวลาต่อมาก็ตาม
ในวันเดียวกันนั้นเอง วุฒิสภาอิตาลีได้ลงมติรับรองมาตรการรัดเข็มขัดตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเป็นการปูทางให้นายซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี นายกรัฐมนตรีของอิตาลีพ้นจากตำแหน่ง หลังจากที่เขาได้ตั้งเงื่อนไขว่าจะลาออกในทันทีที่มีการรับรองแผนลดหนี้สินของประเทศเพื่อเปิดทางให้นาย “มาริโอ มอนติ" อดีตสมาชิกกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ก้าวขึ้นมานั่งแท่นแทน
นายลูคัส ปาปาเดมอส วัย 64 ปี เกิดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2490 และเป็นชาวเอเธนส์โดยกำเนิด หลังจากสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยเอเธนส์ เขาได้เข้าศึกษาต่อที่จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซทส์ (MIT) โดยคว้าปริญญาตรีสาขาฟิสิกส์, ปริญญาโทด้านวิศวกรรมไฟฟ้า และปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ นายปาปาเดมอสมีประสบการณ์ในการสอนหนังสือในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์กว่า 10 ปี พร้อมกันนั้นยังเคยดำรงตำแหน่งนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาบอสตันในปี 2523 และได้ร่วมงานที่ธนาคารกลางกรีซในฐานะหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ในปี 2528 จนไต่เต้าขึ้นมาดำรงตำแหน่งสูงสุดขององค์กรในฐานะผู้ว่าการธนาคารกลางกรีซในปี 2537 ซึ่งนายปาปาเดมอสเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการนำพากรีซเข้าร่วมยูโรโซนและใช้สกุลเงินยูโรเป็นสกุลเงินประจำชาติ แทนสกุลเงินดราชมา (drachma) หลังพ้นจากตำแหน่งในปี 2545 นายปาปาเดมอสได้ก้าวขึ้นเป็นรองประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จนถึงปี 2553 และมานั่งเก้าอี้ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีจอร์จ ปาปันเดรอูในปีเดียวกัน
ส่วนนายมาริโอ มอนติ อายุ 68 ปี เกิดเมื่อวันที่ 19 มี.ค.2486 เขาสำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์และบริหารจากมหาวิทยาลัยบอคโคนี ในมิลาน และเคยเรียนกับนายเจมส์ โทบิน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ที่มหาวิทยาลัยเยล นายมอนติได้ทำงานเป็นอาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยตูริน ก่อนย้ายมาสอนที่มหาวิทยาลัยบอคโคนี และยังเป็นสมาชิกที่สำคัญและประธานของคณะทำงานระดับมันสมองชั้นนำหลายแห่ง รวมทั้งเคยดำรงตำแหน่งประธานของที่ประชุมการเงินและการคลังของยุโรป (SUERF) ในช่วงปี 2525-2528 นอกจากนี้ นายมอนติยังเป็นที่ปรึกษาระหว่างประเทศให้กับโกลด์แมน แซคส์ และโคคา-โคลาด้วย โดยในปี 2537 นายมอนติได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ในรัฐบาลของนายซิลวิโอ เบอร์ลุสโคนีในสมัยแรก และด้วยความสามารถที่โดดเด่นของเขาในระหว่างการร่วมงานกับอีซีนั้น บรรดาเพื่อนร่วมงานและสื่อมวลชนจึงได้ตั้งฉายาให้ขาว่า “ซูเปอร์ มาริโอ"
การปลดล็อคของผู้นำทางการเมืองของทั้งกรีซและอิตาลีที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันและภาพลักษณ์ “นักวิชาการที่เป็นคนนอก" ของผู้นำทั้งสอง นับเป็นสัญญาณบวกต่อตลาดโลก เนื่องจากภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองดูจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่รุนแรงมากขึ้นต่อวิกฤติหนี้สาธารณะของยุโรปที่ส่อเค้าบานปลาย
สำหรับกรีซนั้น การประกาศลาออกของนายปาปันเดรอูส่งผลให้การทำประชามติเกี่ยวกับข้อตกลงรับความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรปต้องมีอันพับไปและนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลที่มีภารกิจในการผลักดันแผนการปฏิรูปทางเศรษฐกิจเพื่อแลกกับความช่วยเหลือทางการเงินจากยูโรโซนและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) สำหรับการเบิกจ่ายเงินงวดมูลค่า 8 พันล้านยูโร ก่อนที่จะจัดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2555
อิตาลีก็เริ่มปรากฏสัญญาณความมีเสถียรภาพทางการเมือง เมื่อรัฐสภาอิตาลีผ่านมาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำประเทศของนายแบร์ลุสโคนี และถือเป็นการเปิดทางสำหรับแนวคิดการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ที่นายแบร์ลุสโคนีไม่เห็นด้วย โดยรัฐบาลแห่งชาติของอิตาลีก็ไม่ต่างจากรัฐบาลเฉพาะกาลของกรีซ ซึ่งจะเผชิญภารกิจที่หนักหน่วงในการปฏิรูปเศรษฐกิจและจัดการหนี้สินที่พอกพูนของประเทศ แต่รัฐบาลแห่งชาติของอิตาลีอาจจะมีวาระการบริหารประเทศที่ยาวนานกว่าจนกว่าจะถึงกำหนดเลือกตั้งในเดือนเม.ย.2556 หากไม่มีอันเป็นไปทางการเมืองเสียก่อน
เมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลผสมของนายลูคัส ปาปาเดมอส ได้ฝ่าฟันอุปสรรคแรกสำเร็จ เมื่อได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภา แต่รัฐบาลกรีซก็ยังเผชิญความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันในพรรคร่วม เนื่องจากรัฐมนตรีในรัฐบาลแห่งชาติชุดนี้ส่วนใหญ่มาจาก 2 พรรคการเมืองใหญ่ คือพรรคสังคมนิยม หรือ PASOK ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลและพรรคประชาธิปไตยใหม่ (NDP) แนวอนุรักษ์นิยม ที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน ต่างพากันยื่นเงื่อนไขต่อรองเพื่อแลกการสนับสนุนรัฐบาล นอกจากนี้ รัฐมนตรีตำแหน่งสำคัญส่วนใหญ่เป็นรัฐมนตรีหน้าเดิมจากพรรครัฐบาล ซึ่งรวมถึงนายอีแวนเจลอส เวนิเซลอส รัฐมนตรีคลัง รัฐบาลใหม่ของกรีซจึงเปรียบเหมือน “เหล้าเก่าในขวดใหม่" ที่อาจจะยังคงถูกครอบงำจากอิทธิพลทางการเมือง
ทางฟากฝั่งอิตาลี นายมาริโอ มอนติ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอิตาลี ได้ทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งที่ทำเนียบประธานาธิบดี ซึ่งนับเป็นการปิดฉากการทำงาน 3 ปีครึ่งของรัฐบาลนายแบร์ลุสโคนีอย่างเป็นทางการ พร้อมประกาศจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่มีคุณภาพคับแก้ว ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการยันนักธุรกิจ โดยไร้เงานักการเมืองแม้แต่คนเดียว นายมอนติให้เหตุผลว่าเพื่อความคล่องตัว เนื่องจากนัการเมืองมักไม่กล้าตัดสินใจที่เด็ดขาด และนายมอนติเองยังควบเก้าอี้รัฐมนตรีคลังอีกหนึ่งตำแหน่งด้วย อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์แสดงความกังวลว่าแม้พวกเขาจะเชื่อมั่นในฝีมือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ซึ่งนับเป็นจุดแข็งของรัฐบาลชุดนี้ แต่ความอ่อนด้อยทางการเมือง ก็อาจทำให้คณะรัฐมนตรีใหม่ภายใต้การบริหารของนายมอนติ มีความเสี่ยงที่จะเผชิญเกมการเมืองกับกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรที่มีประสบการณ์โชกโชน อันจะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ
แม้ทั่วโลกดูเหมือนจะขานรับนายปาปาเดมอสในฐานะผู้นำที่เป็น “คนนอก" ของรัฐบาลชุดใหม่ แต่ก็ดูเหมือนจะยังมีความไม่พอใจอยู่ด้วย เนื่องจากยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจเพื่อลดภารหนี้สินของประเทศ จากการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาลชุดก่อน กรีซได้เผชิญกับการขาดดุลสองด้าน ซึ่งก็คือการขาดดุลทั้งด้านการคลังและดุลบัญชีเดินสะพัดที่ค่อนข้างสูง โดยมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาทางการคลังจากการเก็บภาษีที่ไม่ได้ตามเป้า เนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำ แต่การว่างงานที่พุ่งสูง และในปี 2554 หนี้ค้างชำระของกรีซมีจำนวนทั้งสิ้น 5.329 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 157.7% ของจีดีพี ขณะที่อียูคาดว่า จะเพิ่มเป็น 166.1% ในปี 2555 หน้าที่หลักของนายปาปาเดมอสคือ การพยายามผลักดันมาตรการรัดเข็มขัดที่จำเป็นต้องมีการประกาศเพิ่มเติมเพื่อควบคุมรายจ่ายของภาครัฐและหนี้สินของประเทศตามเกณฑ์การรับเงินช่วยเหลืองวดที่ 2 จากข้อตกลงของอียูและไอเอ็มเอฟที่มีการอนุมัติไปตั้งแต่ปี 2553 โดยนายอีแวนเจลอส เวนิเซลอส รัฐมนตรีคลังกรีซกล่าวว่า กรีซต้องได้รับเงินงวดก้อนนี้ก่อนวันที่ 15 ธันวาคม มิฉะนั้นกรีซอาจผิดนัดชำระหนี้ แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลต้องเผชิญการต่อต้านจากพลังมวลชนภายในประเทศ เนื่องจากมีการตัดลดงบประมาณมากมายที่ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนคนทำงานส่วนใหญ่ในกรีซที่มีความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นอยู่แล้ว
ทางด้านอิตาลีก็หนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน ด้วยหนี้สาธารณะจำนวนมโหฬารถึง 1.9 ล้านล้านยูโร หรือ 120% ของจีดีพี ซึ่งสูงติดอันดับต้นๆของยุโรป โดยนายมอนติกล่าวว่า เขามีเป้าหมายที่จะกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศ และดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดอย่างเร่งด่วนด้วยความยุติธรรม ซึ่งหมายความว่าชาวอิตาลีก็จะต้องยอมเสียสละด้วย เพื่อปกป้องประเทศจากหายนะทางการเงิน โดยหนึ่งในภารกิจหลักที่รัฐบาลต้องรีบดำเนินการเป็นลำดับแรกคือ การลดอัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพีและทำให้งบประมาณกลับสู่ภาวะสมดุลให้ได้ภายในปี 2556 และทันทีที่นายมอนติแถลงนโยบายเศรษฐกิจในการเดินหน้าแผนรัดเข็มขัดเมื่อวันที่ 19 พ.ย.นั้น ได้เกิดเหตุนักเรียน-นักศึกษาชุมนุมประท้วงในหลายเมือง ซึ่งรวมถึงโรม, มิลานและปาเลอร์โม ทางด้านสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างฟิทช์ เรทติ้งส์ได้ออกมาระบุว่า อาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของอิตาลี หากรัฐบาลอิตาลีไม่สามารถเข้าถึงตลาดระดมทุนและรับมือกับต้นทุนการกู้ยืมในตลาดที่สูงขึ้นได้ ท่ามกลางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีอายุ 10 ปีที่พุ่งขึ้นทำสถิติใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยปรับตัวเหนือ 7% ซึ่งเป็นระดับทางจิตวิทยาที่เป็นจุดเปลี่ยนของประทศกลุ่มยูโรโซนในการระดมทุนในตลาด เนื่องจากเป็นระดับเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับกรีซ, ไอร์แลนด์และโปรตุเกส จนทำให้ทั้ง 3 ประเทศต้องขอรับความช่วยเหลือด้านการเงินจากไอเอ็มเอฟและอียูมาแล้ว
แม้การเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมืองของกรีซและอิตาลี ซึ่งมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันในครั้งนี้ จะถือเป็นข่าวดีสำหรับตลาดการเงินอยู่บ้างในช่วงแรก แต่การที่ปัญหาหนี้ยุโรปในปัจจุบันได้ลุกลามจากกรีซไปยังอิตาลีนั้นส่งผลให้ปัญหามีความยากและซับซ้อนมากไปกว่าเดิม เนื่องจากเศรษฐกิจของอิตาลีมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของยุโรป รองจากเยอรมนีและฝรั่งเศส นอกจากนี้ อิตาลียังเป็น 1 ในประเทศสมาชิกของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 หรือจี-7 อีกด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับมาตรการรัดเข็มขัด เพื่อฟื้นสถานการณ์ทางการคลังในประเทศที่เผชิญวิกฤติและเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับคืนมาอีกครั้ง แต่หากอิตาลีไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้สินของประเทศได้ทันเวลาและมีประสิทธิภาพ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปและทั่วโลก ซึ่งยังเป็นประเด็นที่มีความไม่แน่นอนในหลายๆด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจเองและในด้านการเมือง ทั่วโลกจึงคงยังต้องลุ้นกันต่อไปว่าวิกฤติครั้งนี้จะถึงบทอวสานหรือไม่และเมื่อใด?