ผู้ว่าธปท.มองน้ำท่วมเป็นผลกระทบระยะสั้น แต่ส่งผล GDPQ4/54 หดตัวชัดเจน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 23, 2011 15:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง "ทิศทางเศรษฐกิจและธุรกิจไทย หลังวิกฤติน้ำท่วม" ว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ ก.ย. จนถึงขณะนี้ ส่งผลรุนแรงเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจทุกภาคส่วน โดยกระทบภาคการผลิตและดีมานด์ในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่าภาวะน้ำท่วมเป็นผลกระทบระยะสั้น แต่ทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 4/54 หดตัวอย่างชัดเจน และทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ ขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์เดิมที่ 2.6% ซึ่งการประชุม กนง. ในวันที่ 30 พ.ย. ประเมินว่าจะมีการปรับทบทวนจีดีพีลดลงจาก 2.6% อย่างมีนัยสำคัญ

ขณะเดียวกันปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม คือสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีความแน่นอนสูง และยังมีความยืดเยื้อทั้งปัญหาหนี้สินยุโรป และปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐ

"ความเสี่ยงต่างประเทศยังมีอยู่ แต่น้ำท่วมเป็นเรื่องใกล้ตัว แม้จะมีผลกระทบแรงแต่มีเพียงระยะสั้น ซึ่งน้ำท่วมน่าจะมีผลกระทบในไตรมาส 4 ต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 1 ปี 55 แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องระวังปัจจัยด้านต่างประเทศ"นายประสารกล่าว

ทั้งนี้ประเมินผลกระทบน้ำท่วมกระทบเศรษฐกิจในไตรมาส 4/54 แต่ไม่ได้กระทบต่อศักยภาพการผลิตของประเทศในระยะยาว โดยคาดว่าภาคเกษตรจะฟื้นตัวได้เร็วในเวลาอันใกล้ เนื่องจากไม่มีข้อจำกัดในพื้นที่การทำเกษตร ราคาพืชผลราคาทางการเกษตรน่าจะอยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกันยังมีมาตราการภาครัฐที่จะทำให้รายได้ของภาคเกษตรสูงขึ้น

ส่วนภาคอุตสาหกรรม ยังมีความต้องการผลิตอยู่ซึ่งบางส่วนจะฟื้นตัวในไตรมาส 4/54 และต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 2/55 และจะเข้าสู่ระดับปกติในปี 55 ภาคการท่องเที่ยวคาดว่าจะฟื้นตัวเร็วในอีก 1-2 เดือนหลังระดับน้ำเข้าสู่ภาวะปกติ เนื่องจากด้านกายภาพมีผลกระทบน้อย การบริโภคคาดว่าจะฟื้นตัวในไตรมามส 1/55 ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้จ่ายเพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหายจากน้ำท่วม คาดว่ายอดขายรถยนต์หรือสินเชื่อรถยนต์จะเติบโตในอัตราสูง ส่วนการลงทุน จะเห็นการลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์ ขณะที่ภาครัฐจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยฟื้นฟูหลังน้ำท่วม

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญมากที่สุดของเศรษฐกิจไทย คือการสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับระบบการจัดการน้ำในระยะยาว ถือเป็นความท้าทายสุดยอดของรัฐบาลที่มีดำริในการลงทุนบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนในและต่างประเทศ เพราะเรื่องอื่นสามารถแก้ไขได้ไม่ยาก

"หากเราจะลงทุนสร้างโรงงานในประเทศ ก็ต้องมั่นใจว่าอนาคตจะไม่ประสบอุทกภัยเหมือนปีนี้ ยิ่งเป็นบริษัทข้ามชาติยิ่งมีทางเลือก เลือกทำธุรกิจในประเทศต่างๆ เป็นการบริหารความเสี่ยงแบบกระจายตัว หากผลิตในไทยแล้วกระจุกตัว ก็ต้องมาคิดว่าจะบริหารความเสี่ยงอย่างไร"

นอกจากนี้ ยังเสนอแนะให้รัฐบาลเก็บกระสุนไว้ใช้ยามจำเป็น แม้จะต้องใช้ลงทุนในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งใช้เงินลงทุนมาก แต่มองว่าปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐและปัญหาหนี้สินยุโรป ยังมีผลกระทบค่อนข้างสูงจึงจำเป็นต้องอาศัย มาตรการของทางการ เพื่อประคองสถานการณ์ยามจำเป็น และยิ่งเป็นความท้าทายมากขึ้นในการบริหารด้านการคลัง

สำหรับความท้าทายของธุรกิจในระยะข้างหน้า มองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินผลกระทบทั้งทางตรงธุรกิจและผลกระทบทางอ้อมที่จะกระทบประเทศคู่ค้า นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน ซึ่งในปีนี้และปีหน้าจะยังเห็นเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในสองทิศทาง และยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ดังนั้นการทำธุรกิจต้องมีการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย

ส่วนแรงกดดันจากเงินเฟ้อ ขณะนี้ยังทรงตัวในระดับสูง เพราะระยะสั้นราคาอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นจากภาวะขาดแคลน และคาดว่าเงินเฟ้อยังทรงตัวในระดับสูงในช่วงที่เหลือของไตรมาส 4/54 แต่ในปี 55 จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้ความต้องการพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ชะลอตัวลงตาม แต่ยังคงต้องติดตามปัจจัยในประเทศที่ราคาสินค้าจะปรับสูงขึ้นจากความต้องการสินค้าและแรงผลักดันของมาตรการภาครัฐ

พร้อมกันนี้ ผู้ว่าธปท.ได้แนะการปรับตัวของภาคธุรกิจเอสเอ็มอีที่ควรพัฒนาสินค้าบริการให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน โดยนำระบบไอทีมาใช้ ไม่ควรเน้นการแข่งขันด้านราคา ขณะเดียวกันควรมีการเจาะตลาดใหม่ๆมากขึ้น เพราะการแข่งขันในอนาคตจะมีสูงขึ้น รวมถึงมีการพัฒนาบริหารจัดการธุรกิจที่ดี มีการพัฒนาทักษะแรงงาน ให้มีคุณภาพสูง เพื่อลดต้นทุน สร้างมูลค่าเพิ่ม ลดปัญหาขาดแคลนแรงงานและลดแรงกดดันค่าจ้างแรงงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ