"โกร่ง"ยันบ.ประกันต่างชาติเห็นระบบป้องกันน้ำท่วมในอีก 10 เดือนข้างหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 25, 2011 15:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) เปิดเผยว่า ในการเดินทางไปลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้หารือกับบริษัท Marsh และบริษัทรับประกันภัยต่ออีก 13 แห่ง และบริษัท Loyd บริษัทประกันชั้นนำของโลก ซึ่งรัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมที่ถือเป็นเรื่องสำคัญสูงสุดของประเทศ ซึ่งจะมีการจัดทำระบบป้องกันน้ำท่วมเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน เกษตรกร และภาคอุตสาหกรรมต่างๆ

โดยได้มีการชี้แจงว่า ขณะนี้รัฐบาลได้มีการจัดได้ตั้งกรรการ 2 ชุด คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ที่มีนายสุเมธ ตันติเวชกุล เป็นที่ปรึกษา มีภารกิจเร่งด่วนที่จะทำงานเพื่อวางแนวทางการป้องกันน้ำท่วมให้แล้วเสร็จในอีก 10 เดือนข้างหน้า และจะยังมีแผนในระยะปานกลาง และระยะยาว ที่จะทยอยออกมาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อบริษัทรับประกันภัยต่อ

"เรามีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเป็นการยืนยันต่อชาวโลกว่ารัฐบาลจริงใจ และเรามีความรู้ มีการศึกษาทดลอง แนวคิดเรามีพร้อมแล้ว เรามีความพร้อมด้านการเงิน เพราะเราไม่ใช้ประเทศเกิดใหม่ ประเทศยากจน เรามีบุคลากรที่เชี่ยวชาญ" นายวีรพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้บริษัท Loyd มีการตอบสนองต่อการชี้แจงของไทย และยังมองไทยพร้อมที่จะทำธุรกิจต่อ และยืนยันให้การสนับสนุนการรับประกันภัยและการพัฒนาประเทศต่อไป โดยบริษัทประกันภัยต่างประเทศยืนยันที่จะดำรงธุรกิจในประเทศไทยต่อไป แต่ขอให้รัฐบาลไทยเดินทางมาให้ข้อมูลเพิ่มเติบอีกในอีก 3-4 เดือนข้างหน้าอีกมีความคืบหน้าในการดำเนินการตามที่ได้ให้ข้อมูลไว้

อย่างไรก็ตาม นายวีรพงษ์ กล่าวยอมรับว่า ในปีแรก บริษัทประกันภัยอาจยังไม่ชินกับเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ดังนั้นเบี้ยรับประกันภัยจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมคงต้องใช้เวลา

"เมื่อมีการเจรจา และเห็นการทำงานของรัฐบาล ค่าธรรมเนียมก็อาจกลับไปที่เดิม ตอนนี้เขายังคงรับประกันแต่เบี้ยประกันสูงขึ้น เพราะมีฐานลูกค้ากว่า 8 แสนล้านราย แต่ก็อยากเห็นการพัฒนา การเอาจริงเอาจังตามที่รัฐบาลได้รับปากไว้" นายวีรพงษ์ กล่าว

ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบาย ระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวยอมรับว่า ในปีหน้าการรับประกันภัยจากน้ำท่วมหลายบริษัทยังให้การรับประกันแต่การคุ้มครองจะเหลือแค่ 10% ซึ่งเบี้ยประกันขึ้นอยู่กับบริษัทประกันภัยแต่ละแห่ง แต่ทั้งนี้หลังที่นายวีรพงษ์ และคณะได้เดินทางเจรจากับบริษัทประกันภัยในต่างประเทศแล้ว น่าจะเห็นทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากได้มีการชี้แจงถึงแนวทางการป้องกันน้ำท่วม แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นที่เกิดขึ้นด้วย

"ในอีก 6 เดือนข้างหน้าเราก็จะเห็นการเขื่อนป้องกันนิคมอุตสาหกรรมเป็นผลสำเร็จแล้ว เพราะการสร้างเขื่อนใช้เวลาแค่ 6 เดือน ซึ่งนิคมฯที่ถูกน้ำท่วม ทั้ง 7 แห่ง น่าจะได้เห็นระบบป้องกันที่ชัดเจน และเป็นสิ่งยืนยันที่รัฐบาลจะได้นำไปรายงานและชี้แจงต่อบริษัทประกันได้" นายลวรณ กล่าว

และในวันนี้ นายวีรพงษ์ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม ได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือมาตรการสินเชื่อเพื่อพัฒนาระบบป้องกันอุทกภัย ระหว่างธนาคารออมสิน และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ในการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่การนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาระบบป้องกันอุทกภัย ในวงเงิน 15,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 0.01 ระยะเวลา 7 ปี ทั้งนี้ ธนาคารออมสินพร้อมที่จะสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมในกรณีที่มีความต้องการสินเชื่อที่มีระยะเวลานานกว่า 7 ปี

ในการพิจารณาระบบป้องกันอุทกภัยดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรม สมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร ร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญจาก JICA ได้กำหนดเกณฑ์การออกแบบและเงื่อนไข (Design Criteria and Condition) ของระบบระบายน้ำฝนและระบบป้องกันอุทกภัย โดยในเบื้องต้นได้กำหนดระดับความสูงของสันเขื่อนหรือโครงสร้างอื่นเพื่อป้องกันอุทกภัยต้องสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุดในรอบ 70 ปี (70 Year cycle) โดยมีระยะ Free Board ไม่น้อยกว่า 0.50 เมตร และโครงสร้างเขื่อนต้องมีความแข็งแรงเพียงพอในการต้านแรงดันน้ำจากภายนอกโครงการโดยใช้เกณฑ์ระดับน้ำท่วมสูงสุดในรอบ 70 ปี (70 Year cycle) โดยให้คำนึงถึงสภาพน้ำไหล น้ำซึมผ่านฐานเขื่อน และใต้เขื่อน ทั้งนี้ ต้องคำนวณและออกแบบตามหลักวิศวกรรม

ทั้งนี้ คาดว่าจะอนุมัติสินเชื่อได้ภายในเดือนธันวาคม 2554 และเริ่มก่อสร้างระบบป้องกันอุทกภัยดังกล่าวได้ภายในเดือนมกราคม 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ