เวิลด์แบงก์ ประเมินน้ำท่วมไทยเสียหาย 1.4 ล้านลบ. ส่งผลGDP ปี 54หด1.2%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 25, 2011 16:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

Mrs.Annette Dixon ผู้อำนวยการธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับ นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และผู้แทนกระทรวงการคลัง ว่า ธนาคารโลกได้ร่วมมือกับ กระทรวงการคลัง องค์กรภาครัฐ 40 หน่วยงาน และภาคเอกชน ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์น้ำท่วม โดยใช้วิธีการประเมินตามระบบสากลที่ประเทศต่างๆเคยประสบภัย

โดยได้ประเมินความเสียหายในทรัพย์สินของบ้านเรือนและโรงงาน รวมถึงผลกระทบต่อภาคการผลิต เป็นมูลค่ารวมกว่า 1.4 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นความเสียหายจากทรัพย์สิน 660,000 ล้านบาท และความสูญเสียจากการหยุดการผลิต 700,000 ล้านบาท และได้ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยลดลง 1.2% ทำให้ธนาคารโลก ปรับลดการคาดการณ์ขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปีนี้ จาก 3.6% เหลือ 2.4%

อย่างไรก็ตามประเมินว่า ในปี 55 จากที่มีการใช้จ่ายเพื่อซ่อมแซมบ้านเรือง โรงงานต่างๆ น่าจะเป็นผลบวก กระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และในปี 56 คาดว่าน่าจะมีผลกระทบต่อเนื่องจากเหตุน้ำท่วมในครั้งนี้อีก เนื่องจากในภาคการผลิต การซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหายน่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 55

ทั้งนี้ ธนาคารโลกได้ประเมินความเสียหายและความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมครั้งนี้ ใน 18 sector แบ่งเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐาน คือระบบบริหารจัดการน้ำ การคมนาคม ระบบโทรคมนาคม ระบบไฟฟ้า ระบบขนส่งน้ำ โบราณสถาน ในด้านการผลิต คือภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการท่องเที่ยว และภาคการเงิน ส่วนด้านสังคม คือสาธารณสุข การศึกษา อสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ยังมีด้านสิ่งแวดล้อม

สำหรับแนวทางการฟื้นฟูในระยะสั้น แบ่งเป็นภาคสังคมที่รัฐบาลจะต้องเข้าช่วยเหลือผู้ที่ถูกกระทบโดยตรง โดยเฉพาะคนยากจน แม้รัฐบาลจะมีการออกมาตรการช่วยเหลือด้านต่างๆ แต่เห็นว่าควรให้คนยากจนได้เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้มากขึ้น ส่วนภาคการผลิต เช่นภาคเกษตร ควรเร่งซ่อมแซมอุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตร การจัดทำระบบสาธารณูปโภค และระยะต่อไปที่เริ่มมีการเพาะปลูก ต้องมั่นใจว่าจะมีปัจจัยการผลิต เช่นเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ต้องฟื้นฟูในภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวด้วย

นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารจัดน้ำท่วม ที่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความสามารถในการระบายน้ำ การสูบน้ำ เพิ่มการดูแลบำรุงรักษาเกี่ยวกับจัดการน้ำ การทำคันกั้นน้ำที่แข็งแรง ยาว 162 กม.รอบนิคมอุตสาหกรรม และควรนำโครงการบริหารจัดการน้ำในพระราชดำริมาใช้ และรวมถึงแผนควบคุมน้ำท่วมในลุ่มแม่น้ำโขงของไจก้า ซึ่งจัดทำเมื่อปี 52 มาประยุกต์ใช้

"ไม่ได้มีการเสนอแนะให้รัฐบาลทำอะไรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเมื่อมีการฟื้นฟูจากภาครัฐและเอกชน น่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อยู่แล้ว" Mrs.Annette กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ