วิจัยกสิกรฯ คาดกนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 25, 2011 17:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% จาก 3.50% มาอยู่ที่ 3.00% ในการประชุมรอบสุดท้ายในปีนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยครั้งร้ายแรงในรอบหลายทศวรรษ ซึ่งกระทบต่อการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญและประคับประคองการขยายตัวของเศรษฐกิจ ท่ามกลางความเสี่ยงของปัญหาหนี้ในยูโรโซนที่ยังคงเรื้อรัง และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

สำหรับความสูญเสียต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจากอุทกภัยอาจมีมูลค่าสูงถึง 2.42 แสนล้านบาท และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/2554 หดตัว 3.3% โดยผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ได้ส่งผลไปยังภาคการผลิต ตลอดจนภาคการส่งออกของไทย ดังจะเห็นได้จากยอดการส่งออกในเดือน ต.ค.ที่ขยายตัวเพียง 0.3% นับเป็นการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในรอบ 17 เดือน ในขณะที่กิจกรรมการผลิตได้หดตัวลง 0.5% ทั้งนี้จะต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าจะสามารถกลับมาฟื้นฟูกิจกรรมการผลิตอีกครั้ง

ขณะที่หากประเทศในแถบยูโรโซนต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้วก็คงเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียน รวมถึงไทยในระยะข้างหน้า โดยอัตราการขยายตัวของการส่งออกไปยังประเทศหลักในกล่มยูโรโซน (EU-15) ในเดือน ต.ค.พบว่าหดตัวถึง 10%

"ผลกระทบจากอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่เกิดขึ้นส่งผลในวงกว้างต่อหลายภาคส่วน และการเยียวยาต้องใช้เวลา นอกจากนี้เมื่อมองไปในระยะข้างหน้า ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะจากภายนอกประเทศ ทั้งวิกฤติหนี้ในยูโรโซนที่มีความเป็นไปได้ที่จะเลวร้ายลง การฟื้นตัวที่เชื่องช้าของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และปัญหาการคลัง ตลอดจนการขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงของเศรษฐกิจที่นำโดยประเทศจีน ดังนั้น การปรับจุดยืนนโยบายการเงินมาเป็นแบบผ่อนคลายมากขึ้นด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% จึงน่าจะมีความสมเหตุสมผลและมีความจำเป็นสำหรับการประคองแรงส่งทางเศรษฐกิจ" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ขณะเดียวกัน แม้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศยังคงมีอยู่ โดยในระยะสั้นยังคงมีแรงหนุนจากราคาสินค้าในหมวดอาหารและสินค้าจำเป็นที่ปรับตัวสูงจากผลของอุทกภัยก่อนที่กำลังการผลิตจะฟื้นคืนสู่ภาวะปกติ รวมถึงนโยบายของภาครัฐโดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับมาตรการพลังงานในช่วงต้นปี 55 และการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในเดือน เม.ย.55

แต่การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้ออาจเป็นผลจากปัจจัยที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ขณะที่กำลังซื้อที่อาจมีแนวโน้มลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ และผลจากความเสียหายของทรัพย์สินจากอุทกภัย รวมถึงการขาดรายได้จากการหยุดการผลิต โดยคาดว่าการชะลอตัวลงของการบริโภคและกิจกรรมทางเศรษฐกิจน่าจะช่วยบรรเทาแรงกดดันเงินเฟ้อลงได้ในบางส่วน ซึ่งก็น่าจะทำให้ กนง. มีช่องว่างที่จะปรับเปลี่ยนจุดยืนนโยบายการเงินเพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจจากภายนอกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

สำหรับอัตราดอกเบี้ยในระบบธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะในฝั่งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั้น ธนาคารพาณิชย์คงจะมีการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบภัยหรือได้รับผลกระทบจากภาวะอุทกภัยด้วยการพิจารณาเงื่อนไขที่ผ่อนปรนมากขึ้น และการช่วยเหลือวงเงินสำหรับการฟื้นฟูกิจการ สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากนั้น ธนาคารพาณิชย์ก็คงจะมีการปรับกลยุทธ์การนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินออมพิเศษเพื่อรักษาฐานลูกค้า ท่ามกลางสภาวะการแข่งขันที่ยังคงเข้มข้น และรองรับความต้องการวงเงินสินเชื่อที่จะปล่อยให้กับภาคธุรกิจในการฟื้นฟูการผลิตหลังน้ำลด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ