ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ยูโรร่วงหลังบอนด์ยีลด์อิตาลีพุ่ง,S&P หั่นเครดิตเบลเยียม

ข่าวต่างประเทศ Saturday November 26, 2011 08:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินยูโรร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 7 สัปดาห์เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (25 พ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับการลุกลามของวิกฤตหนี้ยุโรป หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของรัฐบาลอิตาลีพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงในการประมูลเมื่อวานนี้ นอกจากนี้ ยูโรยังได้รับแรงกดดันหลังจากสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของพันธบัตรรัฐบาลเบลเยียม

ค่าเงินยูโรร่วงลง 0.88% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.3230 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 1.3348 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนตัวลง 0.35% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.5438 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.5492 ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้น 0.86% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 77.730 เยน จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 77.070 เยน และทะยานขึ้น 1.20% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 0.9304 ฟรังค์ จากระดับ 0.9194 ฟรังค์

ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลง 0.33% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.9693 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 0.9725 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ร่วงลง 0.42% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.7379 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7410 ดอลลาร์สหรัฐ

สกุลเงินยูโรได้รับแรงกดดันอย่างหนักหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีของรัฐบาลอิตาลีพุ่งขึ้นแตะระดับ 7.814% ในการประมูลที่สามารถระดมทุนได้ 2 พันล้านยูโรเมื่อวานนี้ ซึ่งอัตราผลตอบแทนดังกล่าวสูงกว่าระดับ 4.628% ในการประมูลครั้งก่อน และถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการใช้สกุลเงินยูโรเมื่อปี 2542

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นถือเป็นการส่งสัญญาณว่า รัฐบาลชุดใหม่ของอิตาลีภายใต้การนำของนายมาริโอ มอนติ กำลังเผชิญกับภาระหนี้สินมูลค่ามหาศาล และอาจจะประสบความยากลำบากในการใช้มาตรการควบคุมหนี้และลดยอดขาดดุลงบประมาณ

นอกจากนี้ ยูโรยังได้รับปัจจัยลบจากการที่เอสแอนด์พีประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของพันธบัตรรัฐบาลเบลเยียม ลง 1 ขั้น สู่ระดับ AA จากระดับ AA+ โดยให้แนวโน้มเป็น "เชิงลบ" เนื่องจากหนี้สินที่อยู่ในระดับสูงของรัฐบาลกำลังบั่นทอนศักยภาพในการระดมทุนของทั้งภาครัฐและภาคธนาคาร และแสดงความกังวลว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจอาจจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ด้านงบประมาณของเบลเยียมด้วย

เอสแอนด์พีคาดว่า หนี้สินสุทธิของรัฐบาลเบลเยียมจะอยู่ที่ 93% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2554 และคาดว่ายอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลเบลเยียมในปี 2554 จะอยู่ที่ 3.6% ของจีดีพี

นอกเหนือจากความกังวลเรื่องวิกฤตหนี้แล้ว นักลงทุนยังวิตกว่าความขัดแย้งของผู้นำยุโรปในเรื่องแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ จะส่งผลให้ปัญหาดังกล่าวยืดเยื้อและจะยิ่งบั่นทอนเศรษฐกิจโดยรวมของยูโรโซน โดยความขัดแย้งครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อนางอังเกลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ยังคงเดินหน้าคัดค้านการออกพันธบัตรยูโรและการเพิ่มบทบาทของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ในการแก้ไขวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป โดยกล่าวว่า "ไม่มีความจำเป็นต้องออกพันธบัตรยูโร และการออกพันธบัตรยูโรถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ในขณะนี้" ทั้งนี้ นางแมร์เคลได้คัดค้านแนวคิดเรื่องการออกพันธบัตรยูโรของคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) มาโดยตลอด โดยเธอย้ำว่า พันธบัตรยูโรไม่ใช่ทางออกที่จะทำให้ยูโรโซนหลุดพ้นจากวิกฤตหนี้ในตอนนี้ได้ เพราะการออกพันธบัตรยูโรจะเป็นการส่งสัญญาณว่า บางประเทศจะแก้ปัญหาโครงสร้างทางการเงินด้วยการยืมเงินเพิ่มอีก

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่คาดว่านักลงทุนจะให้ความสนใจมากที่สุดในสัปดาห์หน้าคือตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือนพ.ย.ของสหรัฐ ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยในวันศุกร์ที่ 2 พ.ย. เวลา 20.30 น.ตามเวลาไทย โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรจะเพิ่มขึ้น 117,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ย. และคาดว่าอัตราว่างงานจะอยู่ที่ 9.0% ในเดือน พ.ย. ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนต.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ