นายประกิต ประทีปะเสน ประธานกรรมการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มพันธมิตรน้ำตาลโลก (Global Sugar Alliance - GSA) และเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) เร่งขจัดอุปสรรคทางการค้าในกลุ่มสินค้าน้ำตาลทราย เนื่องจากหลายประเทศที่นำเข้าได้ใช้มาตรการบิดเบือนราคา และอุดหนุนการส่งออกส่งผลให้ประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายสูญเสียโอกาสทางการค้าและทำให้กลไกการตลาดไม่ได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ที่ผ่านมา กลุ่ม GSA ซึ่งเป็นการรวมตัวของประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่ของโลก ได้เสนอต่อที่ประชุม WTO ให้มีการเปิดเสรีทางการค้าของสินค้าน้ำตาลทรายมาอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มประเทศที่มีบทบาทในที่ประชุมได้พยายามเสนอให้ใช้วิธีการเจรจาแบบ Early Harvest ซึ่งต้องการเจรจาเฉพาะสินค้าที่ตกลงกันได้ก่อนโดยเลื่อนการพิจารณาสินค้าเกษตรที่มีความอ่อนไหวสูง อย่างสินค้ากลุ่มน้ำตาลทรายและเอทานอลออกไปภายหลัง ซึ่งแนวทางการเจรจาแบบนี้ขัดกับหลักการแต่ดั้งเดิมของ WTO ที่เน้นการเจรจาแบบม้วนเดียวจบ (Single Undertaking) คือให้ประเทศสมาชิกยอมรับผลการเจรจาทุกเรื่องในคราวเดียวไม่ใช่การยอมรับเฉพาะเรื่องที่ตนได้ปร โยชน์ ซึ่งเป็นหลักการที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของไทยในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลทรายอันดับที่ 2 ของโลก
ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของไทยได้แสดงเจตนารมณ์และท่าทีที่ชัดเจนต่อการเจรจาการค้าเพื่อเปิดเสรีสินค้าน้ำตาลทรายในหลักสำคัญ 3 ประการ คือ การเปิดตลาด การลดการอุดหนุนภายในและการลดการอุดหนุนการส่งออก และยังคงยืนยันท่าทีเช่นเดิมพร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลไทยช่วยผลักดันท่าทีนี้ในที่ประชุมระดับรัฐมนตรีของ WTO ซึ่งมีกำหนดจัดในช่วงวันที่ 15 — 17 ธันวาคม 2554 นี้ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
นายประกิต กล่าวว่า ไทย บราซิล และออสเตรเลีย กำลังจับตาดูความเคลื่อนไหวของคณะกรรมาธิการยุโรปที่ได้อนุญาตให้มีการขยายปีการตลาดสำหรับสินค้าน้ำตาลของยุโรปออกไปอีก 3 เดือน จากเดิมที่จะยุติในเดือนกันยายน 2554 เป็นเดือนธันวาคม 2554 โดยหวังจะส่งออกน้ำตาลเพิ่มเติมอีกกว่า 700,000 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณเกินกว่าที่ได้รับอนุญาตจากองค์การการค้าโลก ทั้งนี้ ทั้ง 3 ประเทศจะติดตามว่าการกระทำดังกล่าวผิดกฎขององค์การการค้าโลกหรือไม่
ไทยในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลกต้องร่วมกับกลุ่มพันธมิตรน้ำตาลโลก (GSA) ในการผลักดันประเทศต่างๆ ให้เปิดเสรีการค้าสินค้าน้ำตาลทรายให้ได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อราคาน้ำตาลในตลาดโลก ทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้น และมีเม็ดเงินกระจายไปสู่เกษตรกรชาวไร่อ้อยในชนบทมากยิ่งขึ้น