นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบการแต่งตั้งนายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรีประจำแผนงานความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT : Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle) แผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS : Greater Mekong Subregion) และกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น ด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม (Mekong-Japan Economic Minister)
นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมระดับผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 4 เพื่อให้นายกรัฐมนตรีของไทยได้ลงนามร่วมกับผู้นำประเทศสมาชิกในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 4 ในวันที่ 20 ธันวาคม 2554 และขอความเห็นชอบให้ สศช. สามารถปรับปรุงถ้อยคำในแถลงการณ์ร่วมฯ ได้ในกรณีที่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ หากมีการแก้ไขในระหว่างการประชุมคณะทำงานระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 5 ในวันที่ 18 ธันวาคม 2554 โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบอีก
เห็นชอบกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาแผนงาน GMS ระยะ 10 ปี (ปี 2555-2565) และเห็นชอบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 4
อนึ่ง การประชุมสุดยอดผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 4 ของแผนงาน GMS ณ นครเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ มีกำหนดการระหว่างวันที่ 19-20 ธันวาคม 2554 โดยสาระสำคัญของการประชุม สรุปได้ ดังนี้ แนวคิดหลักของการประชุม คือ ปี 2555 การเข้าสู่ทศวรรษใหม่แห่งการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Beyond 2012 : Towards a New Decade of GMS Strategic Development Partnership)
การให้ความเห็นชอบและลงนามในแถลงการณ์ร่วมระดับผู้นำซึ่งนายกรัฐมนตรีของไทยจะลงนามร่วมกับผู้นำประเทศสมาชิก ในเรื่องความก้าวหน้าการดำเนินงานในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านพลังงาน ด้านโทรคมนาคม และด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงความก้าวหน้าในด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเกษตร และด้านการท่องเที่ยว ซึ่งได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของสาขาในระยะต่อไปแล้วเสร็จ
จุดมุ่งเน้นของกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาแผนงาน GMS ฉบับใหม่ และกรอบการลงทุน จะเป็นแนวทางสำคัญของความร่วมมือท่ามกลางความท้าทายในทศวรรษหน้า โดยจะเพิ่มความสำคัญทางด้านซอฟท์แวร์ ควบคู่กับการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน
แนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ ยังคงเป็นศูนย์กลางการพัฒนาแบบบูรณาการ ซึ่งจะขับเคลื่อนการพัฒนาโดยเร่งดำเนินงานโครงการด้านการพัฒนาเมืองและเมืองชายแดน การเชื่อมโยงถนนสายรองเพื่อเข้าถึงและพัฒนาพื้นที่ การอำนวยความสะดวก การค้าและการขนส่งข้ามพรมแดน การส่งเสริมกิจกรรมโลจิสติกส์และการลงทุนตามแนวพื้นที่ และการพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ควบคู่กับการพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์ การเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพเพื่อตอบสนองต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ
สนับสนุนการเพิ่มบทบาทของ ADB ภาคเอกชน และประเทศหรือองค์กรผู้ให้ความช่วยเหลือการพัฒนาต่าง ๆ ในการสนับสนุนแผนงาน GMS
การให้ความเห็นชอบกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาแผนงาน GMS ฉบับใหม่ ซึ่งเป็นการกำหนดทิศทางการพัฒนาความร่วมมือภายใต้แผนงาน GMS ที่บูรณาการและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทในอนาคตที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
การลงนามเอกสารสำคัญ โดยรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายของประเทศสมาชิก รวม 3 เรื่อง ได้แก่ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเร่งรัดในการจัดให้มีโครงข่ายทางด่วนสารสนเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ระยะที่ 2 (MOU on the Joint Cooperation in Further Accelerating the Construction of the Information Superhighway and its Applications in the GMS) ซึ่งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาและมอบหมายผู้ลงนาม
บันทึกความเข้าใจสำหรับการดำเนินงานร่วมกันเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอดส์ที่มีการเคลื่อนย้ายในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (MOU for Joint Action to reduce HIV Vulnerability Related to Population Movement) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา และมอบหมายผู้ลงนาม
การจัดตั้งสมาคมผู้ขนส่งในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Freight Transport Associatio : FRETA) ของภาคเอกชน ซึ่งได้จัดทำเอกสารแล้วเสร็จโดยประธานสภาธุรกิจ GMS-BF ของประเทศไทย (นายธนิต โสรัตน์) จะเป็นผู้ลงนามของฝ่ายไทยร่วมกับผู้แทนภาคเอกชนของประเทศสมาชิก
การร่วมฉลองความสำเร็จของการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของ 3 สาขาความร่วมมือ ได้แก่ (1) แผนงานหลักด้านสิ่งแวดล้อม ระยะที่ 2 (2) ผลการทบทวนกลางรอบของยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยว และ (3) แผนสนับสนุนความร่วมมือด้านเกษตร ระยะที่ 2