นางแคทลีน มาลีนนท์ กิจโอธาน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (ทีเอสอี) หรือ Thai Solar Energy Co., Ltd (TSE) ผู้ผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ เปิดเผยว่า บริษัทได้จัดตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าแห่งแรกที่อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี บนเนื้อที่กว่า 150 ไร่ ด้วยงบลงทุนกว่า 900 ล้านบาท ด้วยกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ จำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งบริษัทได้วางแผนขยายเต็มกำลังการผลิต และตามสัญญาซื้อขายที่มีอยู่ 9 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการก่อสร้างลดลงประมาณ 20-30%
สำหรับกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จะเป็นระบบ Parabolic Trough หรือ แบบรางรวมแสง เป็นระบบที่ทำงานโดยใช้หลักการรวมรังสีดวงอาทิตย์ด้วยการสะท้อนจากผิวโค้งรูปพาราโบลาที่เป็นรางยาว เข้าสู่ท่อรับรังสี(receiver) ซึ่งจะเป็นท่อโลหะ อยู่ภายในท่อแก้ว โดยช่องว่างระหว่างท่อทั้งสองเป็นสูญญากาศเพื่อลดการสูญเสียความร้อน โดยจะมีน้ำ วนอยู่ภายใน เพื่อพาความร้อนและเปลี่ยนเป็นไอน้ำ เพื่อขับเคลื่อนเครื่องยนต์กังหันไอน้ำในการผลิตกระแสไฟฟ้า
บริษัทตั้งเป้าว่าจะสามารถขยายการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขาย PPA ที่มีอยู่กว่า 10 สัญญา ซึ่งปัจจุบันได้เตรียมการเปิด 1 โครงการ และกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 3 โครงการ นอกจากนี้ยังวางแผนที่จะขยายการลงทุนกับพันธมิตร โดยใช้เงินทุนที่ได้จากการเพิ่มทุนเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาจำนวน 1,000 ล้านบาท และวงเงิน project financing จากธนาคารพาณิชย์ในประเทศ
รายได้ของ TSE คาดว่าเมื่อกำลังการผลิตเต็มที่ รายได้ต่อเมกะวัตต์จะประมาณ 20-30 ล้านบาทต่อปีหรือประมาณ 100-150 ล้านบาทในปีแรก ซึ่งคาดว่าภายใน 2 ปี เราน่าจะขยายกำลังการผลิตจากปัจจุบัน 5 เมกะวัตต์ เป็น 35 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันจากโรงงานแห่งแรก 5 เมกะวัตต์ จะสามารถขยายเป็น 9 เมกะวัตต์ และเราอยู่ในระหว่างการก่อสร้างโรงงานที่ 2,3,4 ในจังหวัดสุพรรณบุรีและกาญจนบุรี นอกจากนี้ยังวางแผนจะขยายการก่อสร้างต่อเนื่องจากใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้าที่เรามีอยู่กับ กฟภ. อีกกว่า 45 เมกะวัตต์ รวมถึงการขยายผ่านการร่วมทุนกับพันธมิตรอื่น ๆ รวมทั้งสิ้นคาดว่าจะสามารถขยายการผลิตได้กว่า 135 เมกะวัตต์ ภายในแผนงาน 3-5 ปี
TSE มีทุนจดทะเบียนบริษัทฯ 1,365 ล้านบาท โดยผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัท พี.เอ็ม. เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด 53%, บมจ.เวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ (WAVE) 25% และรายย่อยอื่นๆ 22% ซึ่งกลุ่มผู้ถือหุ้นมีวิสัยทัศน์ที่จะให้โครงการของบริษัทฯ เป็นรากฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาสู่ความยั่งยืนในอนาคต โดยเฉพาะด้านพลังงานทดแทนการใช้พลังงานฟอสซิล
นางแคทลีน กล่าวว่า การที่กลุ่มตระกูลมาลีนนท์ เข้ามาลงทุนในกลุ่มพลังงานทดแทนเนื่องจากเห็นอนาคตในการเติบโตของธุรกิจด้านนี้ ซึ่งเฉพาะตระกูลมาลีนนท์ถือหุ้นโดยตรงและโดยอ้อม 50% และ WAVE ถือหุ้น 25% ก็เป็นการถือหุ้นโดยกลุ่มตระกูลเช่นเดียวกัน ซึ่งบริษัทได้สัญญา Adder มา 135 MW โดยปีหน้าคาดจะมีการก่อสร้างแล้วเสร็จ 18 MW และปีต่อไปอีก 18 MW รวมเป็น 4 โครงการ เงินลงทุน 4 พันล้านบาท โดย 3 พันล้านบาทมาจากการกู้ธนาคารพาณิชย์ และอีก 1 พันล้านบาท เป็นเงินที่ได้จากการเพิ่มทุน
โครงการทั้งหมดที่บริษัทจะพัฒนา 15 โครงการ มูลค่าลงทุน 1.4 หมื่นล้านบาท เป็นแผนการลงทุน 3-5 ปี คาดว่าทั้งโครงการจะแล้วเสร็จในปี 59 ซึ่งได้รับการอุดหนุนค่า Adder 8 บาท/หน่วย โดยแผนการระดมทุนก็สนใจแนวทางการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ก็ยังมีแนวทางอื่นๆ เช่น การหาพันธมิตร
"ธุรกิจพลังงานทดแทนขณะนี้เป็นธุรกิจที่ได้รับความสนใจสูง ซึ่งบริษัทก็เปิดกว้างสำหรับพันธมิตร รวมถึงการลงทุนในพลังงานทดแทนอื่นๆ ด้วย"นางแคทลีน กล่าว