รัฐ-เอกชนคาดกนง.มีโอกาสลดดอกเบี้ยนโยบายถึง 0.50% หลังน้ำท่วมฉุดศก.ร่วง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 30, 2011 09:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)วันนี้ ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของปี 54 หลายฝ่ายต่างมีความเห็นสอดคล้องกันว่ากนง.น่าจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25-0.50% โดยมองโอกาสเป็นไปได้มากที่จะลดถึง 0.50% หลังสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ส่งผลกระทบในวงกว้างและกดการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้มาก โดยเฉพาะไตรมาส 4/54 เศรษฐกิจจะหดตัวแรง แม้ว่าแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวในระดับสูงคงมีอยู่ก็ตาม

นายพงศ์พัฒน์ คุโรวาท เจ้าหน้าที่บริหารระดับ Assistant Vice President ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ มองว่า กนง.วันนี้มีโอกาสสูงที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย และอาจลดลงมากถึง 0.50% เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้หดตัวลงมากในไตรมาส 4/54 แม้อัตราเงินเฟ้อยังทรงตัวในระดับสูงที่ 4% ซึ่งแรงกดดันจากต่างประเทศมีไม่มาก เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ดีขึ้น และยุโรปยังมีปัญหาหนี้สิน แต่แรงกดดันจากในประเทศอาจมีมาก

"กนง.อาจไม่จำเป็นต้องมองอะไรที่ตึงตัวเกินไป แต่การลดดอกเบี้ยหรือไม่ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ กนง.จะนำมาพิจารณา...มองว่าหากลดดอกเบี้ยนอกจากจะเป็นการช่วยลดต้นทุนภาคธุรกิจและประชาชนที่ใช้เงินเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยแล้ว จะเป็นการดูในภาคจิตใจประชาชน ในด้านความรู้สึก ซึ่งรัฐบาลเองก็อยากเห็นแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยเพื่อให้สถานการณ์ดูมีความหวัง ให้ความรู้สึกดีขึ้น" นายพงศ์พัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำท่วมส่งผลกระทบรุนแรงในระดับหนึ่ง ซึ่งการลดดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้อาจจะลดเพื่อรอดูและติดตามสถานการณ์ในช่วงต้นปี 55 อีกครั้งว่าจำเป็นจะต้องมีการปรับลดลงต่ออีกหรือไม่ เนื่องจากบาง sector ที่ถูกกระทบจากน้ำท่วมอาจฟื้นตัวได้เร็ว แต่บาง sector อาจฟื้นตัวได้ช้า ขึ้นอยู่กับการแก้ปัญหาที่รัฐบาลจะต้องจัดทำแผนแก้ปัญหาระยะสั้นถึงระยะยาวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา

อย่างไรก็ตาม หลังภาคธุรกิจและประชาชนเริ่มกลับมาฟื้นฟูหลังน้ำลด ทำให้ความต้องการใช้เงินกู้มีมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้สภาพคล่องในระบบลดลงและนำไปสู่ธนาคารพาณิชย์เริ่มกลับมาแย่งสภาพคล่องโดยแข่งขันปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากกันอีกรอบ ดังนั้น ธปท.คงต้องคำนึงถึงการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ รวมถึงการเพิ่มสภาพคล่องในระบบ ส่วนหนึ่งอาจจะมีการจัด Soft loan ให้ธนาคารพาณิชย์นำไปปล่อยสินเชื่อต่อ ขณะที่สถานการณ์เงินทุนไหลเข้าสุทธิยังมีไม่มาก การส่งออกชะลอตัวและยังมีการนำเข้าสูง

นายพงศ์พัฒน์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้เห็นว่าจำเป็นที่ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นโดยเร็ว และอาศัยความมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาคประชาชน และไม่ควรเน้นแต่แก้ปัญหาน้ำท่วม เพราะหลายฝ่ายประเมินว่าหลังเกิดฝนตกหนักแล้ว อาจจะมีปรากฎการณ์ลานินญ่า เอลนิโญ่ มีทั้งน้ำท่วมและฝนแล้งได้

"ถ้าเรามัวแต่ชักช้า ไม่ร่วมมือกันก็ลำบาก...ครั้งหนึ่งเราเคยได้รับความเชื่อมั่น แต่เราไม่รักษาไว้ก็ถือเป็นบทเรียน แม้ตอนนี้ เขา(ต่างชาติ) อาจจะไป แต่หากเราสร้างความเชื่อมั่นขึ้นมาได้ใหม่ นักลงทุนต่างชาติก็กลับมา"นายพงศ์พัฒน์ กล่าว

ด้านนางสาวสุทธาภา อมรวิวัฒน์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า การประชุม กนง.ครั้งสุดท้ายของปีนี้น่าจะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% หลังเกิดน้ำท่วมที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ปรับลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้มาก โดยเฉพาะในไตรมาส 4/54 ที่เศรษฐกิจจะหดตัวได้ถึง 4.2% ,มากกว่าที่สภาพัฒน์ได้คาดการณ์ว่าจะติดลบ 3.7%

นอกจากนี้ยังประเมินว่าแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า กนง.ยังมีโอกาสที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.50-0.75% เนื่องจากผลกระทบจากน้ำท่วม และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว จากปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐและปัญหาหนี้สินยุโรปที่ยังไม่ดีขึ้น ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการเงินมาช่วยพยุงเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วง supply shock มีปัญหา

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง ประเมินว่า กนง.น่าจะลดดอกเบี้ยลง 0.25% เช่นกัน เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถูกกระทบจากน้ำท่วม ประกอบกับแรงกดดันในขณะนี้ยังไม่สูงเมื่อเทียบก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่า กนง.อาจจะทยอยปรับลดดอกเบี้ยลงอีกในปีหน้าอีก 0.50% แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กนง.ชุดใหม่ รวมถึง การเปลี่ยนแปลงกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปแทนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน และกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปที่ 3% บวกลบ 1.5% ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าเดิม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ